ลูกจ้างถูกกดดันให้เขียนใบลาออก สามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยได้

โดยปกติแล้วหากลูกจ้างเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกจากงานเอง ลูกจ้างไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากนายจ้างได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ) หรือค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 

แต่บางครั้งหากเจอนายจ้างหัวหมอ เวลาต้องการให้ลูกจ้างออกจากงาน แทนที่จะยอมจ่ายดีๆ ก็ใช้อำนาจในฐานะที่ตนเป็นนายจ้าง เรียกลูกจ้างมาให้เขียนใบลาออก หรือ กดดันต่างๆนานาให้ลูกจ้างออกไปเองบ้าง กดดันให้เขียนใบลาออกบ้าง เพื่อจะให้ลูกจ้างไปฟ้องคดีไม่ได้ หรือพูดง่ายๆว่า ฟ้องไปก็แพ้อะไรทำนองนั้น

แต่ลูกจ้างทั้งหลาย ควรทราบไว้ กรณีที่นายจ้างกดดันให้ต้องเขียนใบลาออก หรือ กดดันให้ต้องออกงานไปเองหากการลาออกไม่ได้เกิดจากความสมัครใจที่จะเขียนใบลาออก หรือ ไม่ได้สมัครใจที่จะออกจากงานแล้ว ศาลท่านถือว่าเป็นการที่นายจ้าง “เลิกจ้างลูกจ้าง” นะคะ

ซึ่งถ้าเป็นการเลิกจ้างเช่นนี้ ลูกจ้างมีสิทธิได้รบเงินค่าชดเชยตามอายุการทำงาน มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า(ค่าตกใจ) และศาลอาจสั่งให้นายจ้างต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีกด้วย

สรุปคือ “ถ้าลูกจ้างไม่ได้มีเจตนาที่จะลาออกจริงๆ แต่ถูกกดดันหรือบังคับให้เขียนใบลาออก กฎหมายถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ฟ้องเรียกค่าชดเชยได้

 

อ้างอิง : เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4052/2548

ที่มา บริษัท ทนายใกล้ตัว จำกัด

 

หัวข้ออื่นที่น่าสนใจ