หลักเกณฑ์ ลดหย่อน ประกันชีวิต และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ

หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต

สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามข้อ 2(61) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ต้องเป็นไปตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 235) ดังนี้

1. กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป และต้องทำประกันชีวิตไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

  • กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้
  • กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

ก. กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ

ข. กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดนอกจาก ก. เช่น ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ

ค. กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนที่ไม่เป็นไปตาม ก. หรือ ข. ผลรวมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตาม ก. และหรือ ข. และหรือ ค. ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์

2. ได้รับยกเว้นภาษีตลอดปีภาษี

3. ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต และผู้รับประกันภัยต้องระบุเพิ่มเติม หากมีกรณีดังต่อไปนี้

  • กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน
  • กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์

4. กรณีผู้มีเงินได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตาม 2. แล้ว ต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไปตาม 1. ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม 2. และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

 

 

หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ตามข้อ 2(61) วรรคสอง ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 261) แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน ตามข้อ 2(61) วรรคสองและวรรคสาม ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 279 (พ.ศ.2554)

1. กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องมีลักษณะ ดังนี้

  • กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
  • มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผลประโยชน์เงินบำนาญดังกล่าว จะจ่ายเท่ากันทุกงวด หรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้ โดยการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน
  • มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ

2. กรณีเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี ให้ยกเว้นตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามข้อ 2(61) วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) และให้ยกเว้นเพิ่มขึ้นอีก สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อได้รวมกับที่ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
  • กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้น ตามข้อ 2(1) ของสามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้

ในกรณีสามีหรือภริยา ซึ่งได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี ได้จ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือได้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี ให้สามีหรือภริยา ซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้ มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่น แล้วแต่กรณี ของสามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร

3. มีหลักฐานจากผู้รับประกันภัย ซึ่งได้รับรองว่า เป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญที่ได้รับยกเว้น

4. กรณีผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิยกเว้น ตามหลักเกณฑ์ ข้อ 2. ข้างต้นแล้ว ต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 1. ผู้มีเงินได้ดังกล่าว หมดสิทธิได้รับยกเว้น และต้องเสียภาษีเงินได้ สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้ว นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ที่มา กรมสรรพากร