“ห้ามพนักงานแต่งงานหรือเป็นแฟนกัน หากพบจะถูกไล่ออก” บังคับใช้ได้จริงหรือไม่

          ความรักเป็นพลังที่ทรงพลังที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของเรา ความรักสามารถทำให้เรามีความสุข อบอุ่นใจ และรู้สึกมีคุณค่า ความรักยังสามารถช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิตได้ 

          การมีความรักในองค์กร ในมุมมองของ HR และผู้ประกอบการ อาจมองว่า กรณีที่ สามีภรรยาร่วมด้วยช่วยกันเอื้อความสะดวกในการทุจริต หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่  เจอปัญหาทะเลาะวิวาทความมึนตึงในแผนกจนเพื่อร่วมงานอึดอัด

          ดังนั้น ใครที่มีสามีหรือภรรยามาสมัคร บริษัทจึงไม่พิจารณาที่จะรับอีกคนเลย หรือเมื่อพบว่าเป็นแฟนกันหรือสมรสกันภายหลังทำงานบริษัทเดียวกัน บริษัทก็จะให้คนใดคนหนึ่งพิจารณาลาออกหรือไล่ออกหรือสิ้นสุดสภาพการจ้างแล้วแต่กรณี ซึ่งนั่นเป็นมุมมองของการบริหารพนักงานขององค์กรนั้นๆ 

          ในกรณีที่บริษัท ออกข้อบังคับการทำงานว่า “ห้ามพนักงานแต่งงานหรือเป็นแฟนกัน หากพบจะถูกไล่ออก” บังคับใช้ได้จริงหรือไม่นั้น ในมุมมองของกฎหมายและผลของการที่บริษัทให้คนใดคนหนึ่งพิจารณาลาออกหรือไล่ออกเนื่องจากกฎดังกล่าว

          กรณีพบแล้วไล่ออก  แม้กำหนดในข้อบังคับบริษัทก็ไม่สามารถไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ เพราะการที่พนักงานแต่งงานกับคนในบริษัทเดียวกันไม่ได้เป็นความผิดตามพรบ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 119 หรือแม้แต่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทว่า “ห้ามแต่งงานหรือเป็นแฟนกับพนักงานในบริษัทเดียวกันหากพบจะถูกไล่ออก”

          อีกทั้งยังเป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมและไม่สมควรแก่เหตุ หากเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (หากให้ออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า) รวมไปถึงอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วย ต่อให้มีข้อบังคับไว้หรือต่อให้มีในสัญญาจ้างแต่การรักกันแต่งงานกันก็ไม่ได้เป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างตามมาตรา 119(4) แต่อย่างใด

          ทางนายจ้างเอง การออกข้อบังคับ ตราบใดที่ไม่ขัดกับกฎหมาย ไม่กำหนดสิทธิ์ลูกจ้างให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถทำได้ แต่อาจจะต้องพินิจพิเคราะห์นิดนึงว่าบางกฎบางข้อบังคับออกมาแล้วบังคับใช้ได้จริงหรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่

 

ที่มา คลินิกกฎหมายแรงงาน