ไขสงสัย ... จัดการอย่างไรกับ หนี้ กยศ. ของลูกจ้าง

          ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า "ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด" แต่มีข้อยกเว้นให้หักได้กรณี "เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง"

ดังนั้น หากนายจ้างประสงค์จะหักจัดสวัสดิการเงินกู้แก่ลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นสวัสดิการช่วยเหลือลูกจ้างนายจ้างจะต้องจัดออกมาให้เห็นว่า

  1. นายจ้างไม่ได้ประโยชน์ใดๆจากเงินกู้
  2. การคืนเงินไม่มีการคิดดอกเบี้ย
  3. อาจมีการเขียนวัตถุประสงค์ให้ชัดว่าเป็นการให้กู้เพื่อสวัสดิการและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างเท่านั้น
  4. ในการหักเงินจะต้องให้ลูกจ้างทำหนังสือให้ความยินยอมเอาไว้แต่ต้น
  5. ไม่ควรหักเกินร้อยละ ๑๐ ของค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด หรือถ้ามีกรณีที่นายจ้างหักค่าจ้าง หลายรายได้ตามข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนดเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ ๒๐ ของค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด
  6. หลักเกณฑ์การหักเงินข้างต้นใช้เฉพาะกับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เท่านั้นที่หักได้ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ดังนั้น หากเป็นเงินอื่น เช่น โบนัส หรือเงินอื่นๆ นายจ้างสามารถหักได้โดยไม่ต้องพิจารณาข้อยกเว้น และจำนวนเงินก็สามารถหักเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้เต็มจำนวน

         

          การให้ความยินยอมเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่หยิบยกมาอ้างได้กับทุกเรื่อง ในส่วนของการชำระ กยศ. บริษัทสามารถ” หักได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมก่อน ” หากนายจ้างไม่ดำเนินการหัก นายจ้างจะต้อง “ชดใช้” เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่นายจ้างยังไม่ได้นำส่งหรือตามจำนวนที่ยังขาดไปแล้วแต่กรณี

          ในส่วนการคำนวณยอดหักเงินเดือน กองทุนจะใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี หารด้วย 12 เดือน หรือจำนวนเดือนที่เหลือก่อนถึงวันครบกำหนดชำระหนี้ (5 กรกฎาคมของทุกปี) และในงวดปีถัดไปจะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินที่ไม่สามารถชำระตามอัตราที่แจ้ง สามารถขอปรับลดจำนวนเงินได้โดยแจ้งความประสงค์ขอลดจำนวนการหักเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” โดยกองทุนอนุโลมให้ชำระขั้นต่ำเพียง 100 บาท แต่ผู้กู้ยืมเงินยังมีหน้าที่ต้องไปชำระเงินในส่วนที่ขาดไปของงวดนั้นให้ครบตามจำนวนที่ต้องชำระก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้รายปี

 

ที่มา คลินิกกฎหมายแรงงาน