ลงโทษนอกเหนือจากข้อบังคับ ไม่ได้

          ในระบบการจ้างงานที่มีกฎหมายแรงงานรองรับอย่างชัดเจน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถือเป็นเอกสารสำคัญที่กำหนด “กรอบ” ให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะในองค์กรที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องมี “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” ซึ่งถือเป็น “สภาพการจ้าง” ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ (มาตรา 10 วรรคสาม)

หากในข้อบังคับของนายจ้างกำหนดโทษวินัยไว้ 4 ระดับ เช่น

  1. ตักเตือนด้วยวาจา

  2. ตักเตือนเป็นหนังสือ

  3. พักงาน

  4. เลิกจ้าง

          นายจ้างก็ต้องดำเนินการลงโทษลูกจ้างโดยยึดตามกรอบโทษทางวินัยเหล่านี้อย่างเคร่งครัด การจะเพิ่มหรือลดรูปแบบการลงโทษ หรือใช้วิธีการลงโทษที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อบังคับ เช่น ลดเงินเดือน หรือ ลดตำแหน่ง จะถือว่าเป็นการออกคำสั่งลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากลงโทษนอกเหนือข้อบังคับ ถือว่า “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

          หากนายจ้างลงโทษลูกจ้างด้วยวิธีที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ เช่น ออกคำสั่งลดเงินเดือน ลดตำแหน่ง ย้ายงานแบบเป็นการลงโทษ ฯลฯ ถือเป็นการกระทำที่ ผิดหลักกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างจึงมีสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้ และหากนายจ้างอ้างว่าลูกจ้างขัดคำสั่งเพื่อจะลงโทษซ้ำอีก (เช่น ลงโทษฐานขัดคำสั่งอันร้ายแรง) ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะคำสั่งแรกก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว

 

ที่มา กฎหมายแรงงาน