นายจ้าง ลูกจ้างควรรู้ 10 กฎบริษัท ที่อาจะขัดกฎหมายแรงงาน

          กฎของบริษัทมีความสำคัญมาก โดยจัดให้มีแนวทางและข้อบังคับให้พนักงานปฏิบัติตาม เพื่อให้มั่นใจว่าสภาพแวดล้อมการทำงานราบรื่นและมีประสิทธิผล กฎเกณฑ์ช่วยรักษาความสม่ำเสมอ ความเป็นมืออาชีพ และมาตรฐานทางจริยธรรมภายในองค์กร อีกทั้งยังส่งเสริมความปลอดภัย ป้องกันความขัดแย้ง และปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของทั้งบริษัทและพนักงาน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนที่จะต้องคุ้นเคยและปฏิบัติตามกฎเหล่านี้

          แต่กฎบริษัทไม่สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้  ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกจ้างเซ็นสัญญาที่มีข้อความตัดสิทธิ์ลูกจ้างเอง เช่น ลูกจ้างตกลงไม่รับค่าชดเชย ลูกจ้างตกลงให้บอกเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า กฎเหล่านี้ไม่สามารถใช้บังคับได้เลย ในส่วนใดข้อบังคับการทำงาน หรือกฎบริษัทใดที่ขัดต่อการกฎหมายแรงงาน มีผลให้เป็นโมฆะ

วันนี้น้องบีพลัสจะมาแนะนำ 10 กฎบริษัท ที่อาจะขัดกฎหมายแรงงาน ที่นายจ้าง ลูกจ้างควรรู้

1.หักค่าจ้างเมื่อลาป่วย พนักงานมีสิทธิ์ ลาป่วย ได้เท่าที่ป่วยจริง โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานปกติไม่เกิน 30 วันทำงาน ต่อปี จะหักเงินไม่ได้ยกเว้นจะสืบทราบว่าป่วยเท็จ ว่าขาดงานและตัดค่าจ้างในวันนั้น หรือออกใบเตือนได้

2.หักค่าจ้างเมื่อลากิจ ลูกจ้างมีสิทธิ์ ลากิจ ต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติไม่เกิน 3 วันทำงาน ต่อปี แต่ถ้าลูกจ้างใช้สิทธิ์ ลากิจ หรือ ลาป่วย บ่อยเกินไป ก็นำมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินทดลองงานได้ รวมถึงประเมินผลงานการปรับขึ้นเงินเดือนหรือโบนัสได้

3.ทำงานไม่ครบปี ไม่มีสิทธิ์ลาพักร้อน  เมื่อทำงานครบ 1 ปี นายจ้างมีหน้าที่กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือวัน ลาพักร้อน ให้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน ต่อปี และจ่ายค่าจ้างเท่ากับวันทำงานปกติ 

4.ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาตามกฎหมาย ในวันทำงานปกติ หากให้ทำงานล่วงเวลา ต้องจ่าย ค่าล่วงเวลา ให้ทั้งพนักงานรายเดือนและรายวน 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง และถ้าสั่งให้มาทำงานในวันหยุด ต้องจ่าย ค่าล่วงเวลา สำหรับพนักงานรายเดือน 1 เท่า พนักงานรายวัน 2 เท่า แต่ถ้าให้ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ต้องจ่าย ค่าล่วงเวลา ให้พนักงานทุกประเภท 3 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง

5.ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาวันหยุดประเพณี นายจ้างต้องประกาศวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างได้หยุดงานและได้รับค่าจ้างตามปกติไม่น้อยกว่า 13 วัน ต่อปี (รวมวันแรงงานแห่งชาติแล้ว) แต่ถ้าถึงวันหยุดแล้วสั่งให้มาทำงาน ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ตามอัตราค่าล่วงเวลา

6.เวลาพักน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่เกิน 5 ชม. ต้องจัดเวลาพักระหว่างการทำงานให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 1 ชม.ต่อวัน

7.ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ นายจ้างต้องจัดวันหยุดประจำสัปดาห์ให้อย่างน้อย 1 วัน ต่อสัปดาห์  ถ้ายังสั่งให้มาทำงานก็ต้องจ่าย ค่าล่วงเวลา ตามกฎหมาย

8.ลดเงินเดือน ลดตำแหน่ง  หากลูกจ้างไม่ยินยอม ไม่สามารถลดเงินเดือนหรือลดตำแหน่งได้ หรือแม้เป็นการลดตำแหน่งแต่เงินเดือนเท่าเดิม ถือว่าไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง หากไม่ทำตามก็ไม่ถือว่าเป็นการขัดคำสั่ง และหากเลิกจ้าง ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ฟ้อง

9.บังคับลาออก ถือเป็นการบีบให้ลาออก แม้ลูกจ้างจะเซ็นไปแล้วก็ฟ้องศาลได้เช่นกัน โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย (กรณีทำงานครบ 120 วัน) และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

10.เลิกจ้างกะทันหัน การบอกเลิกสัญญาทั้งฝ่ายนายจ้างลูกจ้าง ต้องบอกล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง กรณีเลิกจ้างกะทันหัน ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และหากทำงานครบ 120 วันก็ต้องจ่ายค่าชดเชย

 

ที่มา jobbkk