การมอบอำนาจ ศิลปะการบริหารสำหรับผู้นำ

พฤติกรรมของผู้ที่ “ไม่มอบอำนาจ” หรือไม่มอบหมายงานให้กับผู้อื่นไปปฏิบัติ 

• เก็บการตัดสินใจไว้กับตัวเอง หวงอำนาจ หวงงาน กลัวผู้อื่นแย่ง หรือกลัวหมดความสำคัญ

• ไม่กล้ามอบหมายงานให้กับใครไปทำ กลัวว่าถ้ามอบหมายไปแล้วงานไม่ได้ตามเป้าหมายตนเองต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดนั้น

• กลัวผู้อื่นตัดสินใจ หรือทำงานได้ไม่ดีเท่ากับตนเอง คิดไปเองว่าตนเองเก่งกว่าผู้อื่น

• กลัวการตัดสินใจ หรือปฏิบัติงานผิดพลาด กลัวโดนตำหนิ โดนตักเตือน โดนต่อว่า โดนทำโทษ

• กลัวผู้อื่นรู้ว่ามีวิธีการตัดสินใจอย่างไร หรือมีวิธีปฏิบัติในงานนั้นๆ อย่างไร ถ้าคนอื่นรู้วิธีปฏิบัติงานนั้นแล้วตนเองจะหมดความสำคัญไปทันทีทันใด

 

ผลกระทบที่จะตามมาถ้าหากเราไม่เรียนรู้ที่จะมอบอำนาจ หรือมอบหมายงานให้ผู้อื่นทำ 

• เครียดสะสม เพราะสะสมความเครียดจากการทำงานและการตัดสินใจ

• กดดัน เพราะต้องตัดสินใจทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเหมือนมดหรือเรื่องใหญ่อย่างช้าง

• ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เพราะต้องเอาเวลาไปตัดสินใจเรื่องต่างๆ

• สมองไม่ได้พัก เพราะต้องคิดตลอดเวลา

• ไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ

• ขาดโอกาสในการพัฒนา

• โอกาสในการเติบโตน้อย

 

หลักการมอบอำนาจ มีดังนี้

1. เรียนรู้งาน หมายถึง เรียนรู้สิ่งที่จะมอบอำนาจในการตัดสินใจ หรือเรียนรู้งานที่จะมอบหมายให้ผู้อื่นทำ

2. เรียนรู้คน หมายถึง เรียนรู้ถึงลักษณะนิสัยใจคอ ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และทัศนคติของผู้ที่จะมอบอำนาจให้เขา

3. เรียนรู้การให้อำนาจ หมายถึง เรียนรู้ขอบเขตของการให้อำนาจในการตัดสินใจว่ามีมากน้อยเพียงใดในแต่ละเรื่อง เพื่อทำให้ผู้ที่รับมอบอำนาจได้ทราบถึงระดับการตัดสินใจที่ตนเองได้รับก่อนทำการตัดสินใจ

4. พัฒนาสมาชิกในทีม โดยอบรม ให้ความรู้ และฝึกฝนการตัดสินใจ

5. ทำทีละขั้น ทำอย่างเป็นระบบ โดยให้อำนาจในการตัดสินใจ หรือมอบหมายงานให้สมาชิกในทีมทำโดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เรื่องที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เรื่องที่ไม่มีผลกระทบอะไรมาก ไปจนถึงเรื่องยากๆ และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบมาก

6. ติดตามและประเมินผล โดยติดตาม เพื่อให้คำแนะนำ หรือความช่วยเหลือสมาชิกในทีม รวมถึง ประเมินผลความสำเร็จในการปฏิบัติงาน ถ้าพวกเขาสามารถตัดสินใจได้อย่างยอดเยี่ยมเราก็ชื่นชม แต่ถ้ายังตัดสินใจได้ไม่ดีพอ เราก็ให้คำแนะนำหรือสอนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาให้พวกเขาเก่งขึ้น

 

ที่มา ธรรมนิติ