“4C” คิดได้ ลงมือทำ ทักษะที่คนเก่งยุคนิวนอร์มอลต้องมี

เมื่อโลกมีความท้าทายมากขึ้น ทุกๆ องค์กรก็ย่อมต้องการพนักงานที่เก่งพร้อม มีศักยภาพมากพอที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำกล่าวของ “เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์” CEO และ “ภีศเดช เพชรน้อย” เลิร์นนิ่ง ดีไซน์เนอร์ ทั้งสองเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง BASE Playhouse และเป็นวิทยากรหัวข้อ " Workplace Essential Skills Competency สร้างและวัด Soft Skill เพื่อรับกับทุกการเปลี่ยนแปลง" ในงาน “THAILAND HR FORUM 2020” ของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT

Competency คืออะไร? พวกเขาได้อธิบายคำๆ นี้แบบง่ายๆ ว่า เป็นความสามารถ แต่คำถามก็คือ มีความสามารถอะไรบ้างที่องค์กรและพนักงานในโลกปัจจุบัยจำเป็นต้องมี ?


"เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความสามารถมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เวลาเราพูดว่าคนนี้เก่ง คนนั้นเก่ง ก็จะมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรก คือชุดความรู้ ที่เกิดจากการทำความเข้าใจข้อมูลบางอย่าง และมีความถนัด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนๆ นี้รู้หรือไม่รู้ ก็ต้องวัดจากความเข้าใจ เขาต้องสามารถอธิบายได้ หรือเห็นได้ชัดจากการทำข้อสอบ ต่อมาคือชุดทักษะ คือการเอาชุดความรู้ที่มีไปประยุกต์ใช้ให้ออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ การได้ลงมือฝึกฝนทำในสภาพแวดล้อมจริงจะกระตุ้นให้เกิดทักษะได้ ความแตกต่างของทักษะกับความรู้คือทักษะต้องลงมือทำ สุดท้ายคือ ชุด Mindset หรือ ความคิด ซึ่งสำคัญเพราะเป็นมุมมองของคนแต่ละคนมองสถานการณ์นั้นอย่างไร"


ซึ่งคนเก่งต้องมีครบทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ ไม่ขาดชุดใดชุดหนึ่ง เปรียบเหมือนการขับรถ การที่คนๆ หนึ่งจะขับรถได้เก่ง เขาก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ในรถ พวงมาลัย เบรค กติกาการขับรถบนถนน ว่าต้องขับอย่างไร แน่นอนถ้ารู้แค่สิ่งเหล่านี้ก็คงไม่สามารถขับรถไปถึงเป้าหมายได้ เขาต้องมีชุดทักษะด้วย คือต้องสามารถขับรถได้ ต้องมีความสามารถทั้งร่างกาย และสมอง รู้ว่าต้องสตาร์ทอย่างไร หมุนพวงมาลัยอย่างไร แต่แน่นอนหากนั่งเรียนในห้องเขาคงขับไม่ได้ จำเป็นต้องลงไปทดลองขับจริงๆ


สำหรับชุดความคิด ต้องเป็น Mindset ที่คนๆ หนึ่งต้องมีความรู้สึกร่วมกับมันจริงๆ เช่นคนขับรถทุกคนย่อมรู้ว่าเมาแล้วไม่ควรขับ แต่ในความเป็นจริงนั้นจะมีกี่คนที่ทำตาม คือรู้แล้วไม่ทำตาม ยังคงดื่มแอลกอฮอลล์แล้วยังมาขับรถอยู่ดีแปลว่าไม่ได้มีชุดความคิด ซึ่งการจะมีได้เขาต้องผ่านประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับเขาจึงจะสามารถสร้าง Mindset นั้นได้อย่างถูกต้อง เช่น เคยดื่มแล้วขับรถจนประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หลังจากนั้นเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปสู่ความคิดนั้นจริงๆ

ถ้ามองในมุมขององค์กร ถ้าสังเกตุก็จะเห็นได้ชัดว่า ผู้ที่สามารถก้าวเป็น CEO จะต้องมีชุดความรู้ ชุดทักษะ และชุดความคิดแบบครบครัน เขาจะมีชุดความรู้ด้านการเงิน ด้านการบริหาร ด้านการตลาด ทั้งเข้าใจว่าจะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไร เข้าใจในอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ แต่แค่นั้นไม่พอเขาต้องมีความสามารถด้านการตั้งสมมติฐาน การตัดสินใจ การแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสารกับลูกทีม ทักษะความคิดสร้างสรรค์ เวลาเจอปัญหาก็จะสามารถคิดโซลูชั่นเพื่อจัดการได้ และมีทักษะการร่วมทำงานกับผู้ร่วมงานในทีม คิดนอกกรอบ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ฯลฯ นำทั้งหมดมาขับเคลื่อนทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้า


แต่ในมุมของคนทั่วไปอาจไม่สามารถเก่งขั้นเทพ อย่างไรก็ดี มีหลายสำนักได้กำหนดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นซอฟท์สกิลที่เทคโนโลยีไม่อาจทำแทนได้ และเมื่อได้กางออกมาดู เมธวิน และ ภีศเดช มองว่า ในการพัฒนาพนักงานให้เก่งเพื่อนำพาองค์กรฝ่าไปในโลกอนาคตนั้น มีอยู่ 4 ทักษะ ที่ต้องการไฮไลท์ ได้แก่ Critical Thinking , Creativity , Collaboration และ Communication


ถ้าพิจารณาคนที่มีทักษะเหล่านี้ สำหรับคนที่มี Critical Thinking ต้องเป็นคนช่างสงสัย และตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ข้อมูลต่างๆ ในองค์กร ตัวเลขในรายงาน ฯลฯ หมายความอย่างไร เชื่อได้หรือไม่ นอกจากนี้ เขายังสามารถเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ได้ดี เช่น ถ้าเป็นเรื่องการตลาด ก็รู้ภาพรวมว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้ตรรกะการตัดสินใจได้อย่างเฉียบคม เป็นต้น


Creativity ความสามารถในการก้าวออกจากกรอบ การท้าทายกับความเชื่อเดิมๆ สิ่งเดิมๆ คิดค้นโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครคิดได้ กล้าลงมือทำโดยไม่กลัวล้ม กล้าจะที่จะผิดพลาด เพราะมองว่าเป็นการเรียนรู้ มองหาสิ่งใหม่ๆ เสมอ ซึ่งจะนำไปสู่หรือเป็นบ่อเกิดนวัตกรรม


Collaboration เป็นทักษะที่ถือว่าจับต้องได้ง่ายที่สุด เป็นคนที่ทำงานเป็นทีมได้ดี เป็นทั้งผู้นำ และผู้ตาม จะรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงาน ลดความขัดแย้ง และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบจัดการหน้าที่ของตัวเองได้ดีรวมทั้งของทีมด้วย เป็นคนที่คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน คิดถึงความสำคัญขององค์กรมากกว่าประโยชน์ของตัวเอง


Communication คือ การสื่อสาร ต้องพูดรู้เรื่อง เช่นเมื่อเข้าห้องประชุมคนที่มีทักษะนี้จะสามารถจับประเด็นได้ดี สรุปทุกอย่างให้เข้าใจได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว สามารถลำดับเรื่องราวได้ รู้ว่าประเด็นไหนควรคุยต่อ สื่อสารได้หลายรูปแบบ ทั้งพูด อ่าน เขียน สามารถพูดโน้มน้าวใจผู้บริหารและคนในที่ประชุมได้


"และเมื่อขมวดทั้ง 4C นี้ออกมาก็จะได้เป็นหมวดของความคิด และการลงมือทำ ต้องมีความคิดให้เป็นระบบ ต้องคิดนอกกรอบ แต่จะคิดหรือมีไอเดียดีแค่ไหนถ้าทำงานกับคนอื่นไม่ได้ สื่อสารหรือสร้างแรงบันดาลใจกับคนอื่นไม่เป็นก็ไม่เป็นผล"


ทั้งยังบอกว่า Buzzword ที่เก๋ๆ หลายคำในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็น Agile หรือ Design Thinking หรือ Scrum ที่หลายองค์กรให้ความสำคัญต้องการนำเข้ามาใช้ในองค์กร ทุกคำต่างก็มีทักษะ 4C ซ่อนอยู่ข้างในแทบทั้งหมด


ถ้าพนักงานมีทักษะทั้ง 4C ครบพวกเขาจะสร้างผลงานได้ดีมากน้อยแค่ไหน? พวกเขาบอกว่าทักษะไม่ใช่ความรู้ แปลว่าการจะสร้างได้ ไม่เพียงแค่การฟัง การเทรนนิ่ง แต่ต้องมีความรู้ หลังจากนั้นก็ต้องผ่านการฝึกฝนด้วยกระบวนการที่ถูกต้องด้วย
ซึ่งกระบวนการการสร้างทักษะเหล่านี้ให้กับพนักงานองค์กรของ BASE Playhouse มีความโดดเด่นตรงที่ใช้เกมสร้างการเรียนรู้แบบใหม่เพราะเชื่อว่าความสนุกจะสร้างแรงกระตุ้นที่ดี มีการนำเอา Design Thinking มาช่วยการแก้ปัญหา และนำเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกเข้ามาใช้ในการพัฒนาคน


แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ก่อนอื่นต้องรู้ว่าโจทย์ขององค์กรนั้นๆ คืออะไร ความสามารถอะไรที่อยากให้มี หรืออะไรคือปัญหาที่พนักงานมักพบเจอ จากนั้นค่อยนำเอามาออกแบบ เสริมทักษะที่ควรมีเข้าไป และมีการประเมินผล


“การจะประเมิน ก็ต้องให้เขาได้ลองทำโจทย์บางอย่าง เช่น เรื่องของความคิดที่เป็นเหตุผล ก็ให้ปัญหาไปแล้วดูว่าเขาจัดการอย่างไร และดูผลที่ออกมา หรือในแง่ความคิดสร้างสรรค์ต้องดูจำนวนในการคิดว่ามีเยอะแค่ไหน หรือในเชิงการทำ ที่ดีก็จับให้เขาได้ลองทำงานกับคนอื่นเลยและเช็คฟีดแบ็คคนที่ทำงานกับเขาออกมาว่ารู้สึกอย่างไร ก็จะเป็นการวัดที่แม่นยำที่สุด”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ