ลักทรัพย์ VS ยักยอกทรัพย์ เลิกจ้างได้ทันที !!

น้องบีพลัสจะพามาดูว่า การลักทรัพย์ และ การยักยอกทรัพย์ มีความแตกต่างกัน ก็คือสิทธิในการครอบครอง

          การลักทรัพย์ คือ การไปแย่งเอาของที่มีรูปร่าง มีราคา ที่อยู่ในครอบครองของนายจ้างตัวเอง ในลักษณะที่เอาไปแล้วเอาไปเลย หรือเรียกอีกอย่างว่าตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของ กรณีนี้คนที่ขโมยต้องเป็นลูกจ้างเท่านั้นนะ เช่น พนักงานรับเงินมาจากลูกค้าแล้วเอาใส่เครื่องไม่ครบรับมา 1,000 บาท แต่แจ้งยอด 800 บาท แอบเอาไป 200 บาท เป็นต้น

          การยักยอกทรัพย์ คือ การเบียดบังเอาของที่อยู่กับตัวเรา เห็นอยู่ต่อหน้า ถืออยู่กับมือ มีสิทธิ์เคลื่อนย้ายไปที่ไหนก็ได้ แต่ของนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจ้าง แต่ตัวเองมีหน้าที่จัดการ มีสิทธิ์ครอบครอง เช่น ผู้จัดการสาขามีหน้าหน้าดูแลเงิน จัดการเงินว่าจะจ่ายออกไปเท่าไหร่แต่แอบเอาไปใช้ส่วนตัว

          การลักทรัพย์เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ มีอายุความอย่างน้อย 10 ปี แต่การยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัว สามารถยอมความได้ นายจ้างต้องแจ้งความหรือฟ้องศาลภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวคนทำผิด ซึ่งการลักทรัพย์และยักยอกทรัพย์เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา เพราะมีความผิดต้องถูกดำเนินคดีอาญา และถูกดำเนินคดีแพ่งให้รับผิดชอบค่าเสียหายหรือนำของมาคืนด้วย

          ในกรณีที่ลูกจ้างทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง นายจ้างสามารถไล่ออกจากงานได้เลย ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย “การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”  แปลว่าเมื่อลูกจ้างทำความผิด และนายจ้างสอบสวนจนพบความจริงว่าลูกจ้างทำผิดจริง ก็ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างให้ออกจากงานได้เลยทันที โดยไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง และไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วย

          มาตรา 119  นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่ง กรณีใด ดังต่อไปนี้ 

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง 

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย 

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง 

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วย กฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่ จําเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด 

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร 

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็น กรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย 

 

          แม้การที่ลูกจ้างลักทรัพย์นายจ้างอาจเป็นความผิดทางอาญา โดยนายจ้างเอาเหตุดังกล่าวมาเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเนื่องจากเป็นการทำผิดอาญาต่อนายจ้าง หรือ เป็นการทำผิดวินัยกรณีร้ายแรง แต่หากลูกจ้างไม่ยอมรับว่าได้ลักทรัพย์ จึงมายื่นคำร้องให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย กรณีเช่นนี้ พนักงานตรวจแรงงานก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าลูกจ้างได้ทำผิดตามที่นายจ้างอ้างหรือไม่

ลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดจริง = นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย

แต่ถ้านายจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จ่ายค่าชดเชย ก็ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานให้ศาลตัดสินต่อไป

 

ที่มา justhat