สิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับกิจการที่ต้องจัดให้มี

สวัสดิการแรงงาน คือ การดำเนินการใดๆ ไม่ว่าโดยนายจ้าง สหภาพแรงงาน (ลูกจ้าง) หรือรัฐบาลที่มีความมุ่งหมายเพื่อให้ลูกจ้างสามารถมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร มีความผาสุกทั้งกายและใจ มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน มีความเจริญก้าวหน้า มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิตไม่เฉพาะแต่ตัวลูกจ้างเท่านั้น แต่รวมถึงครอบครัวของลูกจ้างด้วย การดำเนินการเพื่อให้มีการจัดสวัสดิการขึ้นในสถานประกอบการนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินภารกิจ 3 ประการ ดังนี้

1.กำหนดและพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการ

2.ส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการให้มีการจัดสวัสดิการ

3.ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

การกำหนดและพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการภายใต้ภารกิจการกำหนดและพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการนี้ สวัสดิการแรงงานได้ถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.สวัสดิการแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด

2.สวัสดิการแรงงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งสวัสดิการแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสวัสดิการที่ได้มีการพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ ซึ่งกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องมีการจัดสวัสดิการประเภทนี้ 

(1) สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

1.ให้นายจ้างจัดให้มีน้ำสะอาดสำหรับดื่ม ห้องน้ำ และห้องส้วมอันถูกต้องตามสุขลักษณะและมีปริมาณเพียงพอแก่ลูกจ้าง

2.นายจ้างต้องจัดให้มีบริการเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยในการปฐมพยาบาลหรือในการรักษาพยาบาล

(2) สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลในจำนวนที่เพียงพอ อย่างน้อยตามรายการดังต่อไปนี้

(ก) กรรไกร
(ข) แก้วยาน้ำ และแก้วยาเม็ด
(ค) เข็มกลัด
(ง) ถ้วยน้ำ
(จ) ที่ป้ายยา  
(ฉ) ปรอทวัดไข้
(ช) ปากคีบปลายทู่
(ซ) ผ้าพันยืด
(ฌ) ผ้าสามเหลี่ยม
(ญ) สายยางรัดห้ามเลือด
(ฎ) สำลี ผ้าก๊อซ ผ้าพันแผล และผ้ายางปลาสเตอร์ปิดแผล
(ฏ) หลอดหยดยา
(ฐ) ขี้ผึ้งแก้ปวดบวม
(ฑ) ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือโพวิโดน-ไอโอดีน
(ฒ) น้ำยาโพวิโดน-ไอโอดีน ชนิดฟอกแผล
(ณ) ผงน้ำตาลเกลือแร่
(ด) ยาแก้ผดผื่นที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ
(ต) ยาแก้แพ้
(ถ) ยาทาแก้ผดผื่นคัน
(ท) ยาธาตุน้ำแดง 
(ธ) ยาบรรเทาปวดลดไข้
(น) ยารักษาแผลน้ำร้อนลวก
(บ) ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
(ป) เหล้าแอมโมเนียหอม
(ผ) แอลกอฮอล์เช็ดแผล
(ฝ) ขี้ผึ้งป้ายตา
(พ) ถ้วยล้างตา
(ฟ) น้ำกรดบอริคล้างตา
(ภ) ยาหยอดตา

(3) สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป

ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลตามสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

1.ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อยหนึ่งเตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ในข้อ (2) ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาล เบื้องต้น
2.พยาบาลตั้งแต่ระดับพยาบาลเทคนิคขึ้นไปไว้ประจำอย่างน้อยหนึ่งคนตลอดเวลาทำงาน
3.แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละสองครั้งและเมื่อรวมเวลาแล้วต้อง ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหกชั่วโมงในเวลาทำงาน

(4) สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป

1.ต้องจัดให้มีสถานพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้สองเตียง และเวชภัณฑ์อันจำเป็นเพียงพอแก่การรักษาพยาบาล

2.พยาบาลไว้ประจำอย่างน้อยสองคน

3.แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อยสองคนประจำตามเวลาที่กำหนดในเวลาทำงานปกติคราวละไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง และยานพาหนะพร้อมที่จะนำส่งลูกจ้างส่งสถานพยาบาล โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยชั้นหนึ่งที่นายจ้างได้ตกลงไว้ เพื่อให้การรักษาพยาบาลลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยได้โดยพลัน

 

ที่มา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน