Employer Branding การสร้างแบรนด์นายจ้าง

Employer Branding คืออะไร?

Employer Branding หรือ การสร้างแบรนด์นายจ้าง คือ การสร้างภาพลักษณ์และส่งมอบคุณค่าขององค์กรให้กับพนักงานและคนภายนอกได้รับรู้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างตัวเงิน หรือคุณค่าทางจิตใจก็ได้ 

ลองคิดง่าย ๆ คือ ถ้าเรานึกถึงองค์กรหนึ่งขึ้นมา เรามี “ภาพ” ในหัวเกี่ยวกับองค์กรนั้นอย่างไร มีทัศนคติในแง่บวกหรือลบ โดยสิ่งเหล่านั้นบ่งบอกถึงข้อมูลข่าวสาร หรือประสบการณ์ที่เราได้รับต่อองค์กรนั้น ๆ เอง

ทำไมถึงต้องทำ Employer Branding?

การสร้างแบรนด์นายจ้างนั้นมาจากสาเหตุหลัก ๆ ที่บริษัทในปัจจุบันกำลังประสบอยู่ เช่น 

  • การสรรหาบุคลากรแบบเดิม ๆ ผ่านโฆษณารับสมัครงานหรือบริษัทจัดหางานนั้นมีราคาสูง แต่ด้อยประสิทธิภาพในการดึงดูดคนที่ใช่ที่เหมาะกับองค์กรจริง ๆ นอกจะเจอคนที่ไม่เข้ากับองค์กรแล้ว กว่าจะได้คนก็ใช้เวลาค่อนข้างนานอีกด้วย

  • องค์กรเองในฐานะผู้ประกอบการ ไม่สามารถสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นกว่าผู้ประกอบการอื่น ๆ หรือไม่รู้จัก Brand Personality ของตัวเองด้วยซ้ำ ง่าย ๆ คือ องค์กรเองนั้นไม่ทราบ “จุดขาย” ของตัวเองที่จะดึงดูดผู้สมัครที่มีคุณสมบัติ ที่พร้อมจะร่วมงานด้วยโดยมีทัศนคติว่าองค์กรเราคือองค์กรในฝัน

  • การออกบู๊ธในสถาบันศึกษาต่างๆ หรือ Job Fair ก็ยังไม่ “Strong” พอที่จะสร้างประสบการณ์ให้กับผู้สมัครให้เห็นภาพลักษณ์ขององค์กรที่ชัดเจน

เพราะปัญหาเหล่านี้ทำให้ Employer Branding เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดึงดูดและสรรหาพนักงาน รู้หรือไม่ว่าองค์กรที่มีแบรนด์นายจ้างที่ดี สามารถลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาคนได้มากถึง 50% และมีอัตราการลาออกของพนักงานลดลงถึง 28% อีกด้วย 

นอกจากนี้ 23% ของคนรุ่นใหม่ที่อายุ 18 - 34 ปี ยังยอมรับการถูกต่อรองเงินเดือนได้ ถ้าได้ร่วมงานกับบริษัทที่มีภาพลักษณ์นายจ้างที่ดีด้วยล่ะ

ข้อดีของการสร้าง Employer Branding

การสร้างแบรนด์นายจ้าง หรือ Employer Branding นั้น มีประโยชน์ทั้งในด้านการดึงดูด สรรหา อีกทั้งมีส่วนสำคัญในการรักษาพนักงานเก่ง ๆ ไว้กับบริษัท

มีสถิติออกมาว่า 75% ของผู้สมัครงานจะหาข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ของบริษัทก่อนที่จะตัดสินใจสมัครงาน โดยลูกจ้าง 69% เลือกที่จะปฏิเสธ offer งานจากองค์กรที่มีแบรนด์นายจ้างไม่ดี ถึแม้ว่าพวกเขาจะยังว่างงานอยู่ก็ตาม และ 83% ของพนักงานยังมีแนวโน้มที่จะออกจากบริษัทเดิมหากได้รับ offer งานจากบริษัทที่มี Employer Brand ที่ดีกว่าด้วย! 

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าแบรนด์นายจ้าง

  • ช่วยให้องค์กรแสดงความแตกต่างและโดดเด่นจากผู้อื่น 

  • ดึงดูดคนที่ “ใช่” ให้เดินเข้ามาหาและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

  • สร้างประสบการณ์เชิงบวกและสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรที่ชัดเจนให้กับพนักงานทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตด้วย

สรุปได้ว่าแบรนด์นายจ้างนั้นช่วยเพิ่มความชัดเจนและสร้างเอกลักษณ์ขององค์กรได้ (clearness and identity) ทำให้พนักงานเชื่อถือและไว้วางใจต่อนายจ้าง รวมถึงองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถเอาไว้กับองค์กร

Employer Branding สร้างยังไง?

ในการสร้าง Employer Branding ให้ประสบความสำเร็จนั้นมีขั้นตอนง่าย ๆ แค่ 2 ขั้นตอนเท่านั้นเอง ขั้นแรกก็คือ การทำบ้านให้น่าอยู่ และขั้นตอนที่ 2 ก็คือการทำให้โลกภายนอกรับรู้ ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีวิธีดังต่อไปนี้

1.การทำบ้านให้น่าอยู่ ด้วย EVP

นายจ้างที่ดีเป็นยังไงล่ะ? การจะบอกว่าเราเป็นนายจ้างที่ดีหรือไม่ ต้องดูว่าเราปฏิบัติยังไงกับคนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับบริษัท ทั้งคนที่เป็นพนักงานและผู้ที่มาสมัครงาน องค์กรควรปฏิบัติกับพวกเขาอย่างเป็นธรรมและให้เกียรติ ตัวอย่างสิ่งที่องค์กรควรทำก็อย่างเช่น

  • ทำนโยบายต่าง ๆ ของบริษัทให้เหมาะสม เพื่อให้พนักงานรู้สึกสบายใจ และภูมิใจในทำงานในองค์กร

  • สร้างช่องทางในการรับสมัครงานให้คนเข้าถึงได้ง่าย โดยต้องเป็นกระบวนการที่สร้างความเท่าเทียมกันในกับผู้สมัครงานด้วยเช่นกัน

  • ให้สวัสดิการและผลตอบแทนที่จูงใจพนักงานและช่วยให้พวกเขามีสมดุลระหว่างการทำงานงานกับชีวิตส่วนตัว

  • สร้างแผนพัฒนาอาชีพเพื่อให้พนักงานสามารถพัฒนาทักษะและพัฒนาอย่างมืออาชีพภายในบริษัทของคุณ

เมื่อเรามั่นใจว่าเราเป็นองค์กรที่ดีแล้ว สิ่งที่เราควรทำต่อไปคือการนำสิ่งที่ดีเหล่านั้นมาเขียนเป็น Employer Value Proposition หรือ EVP ขององค์กร 

โดย EVP ก็หมายถึงคุณค่าที่บริษัทเสนอให้กับคนที่จะเข้ามาเป็นพนักงาน เป็นสิ่งที่องค์กรคิดมาแล้วว่าสามารถสร้างแรงดึงดูดที่โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งได้นั่นเอง โดยองค์กรก็จะมีความคาดหวังบางอย่างต่อพนักงานด้วยเช่นกัน เช่น ผลงาน หรือ ความร่วมมือ 

2. บอกให้โลกรู้
เมื่อองค์กรของเรามี EVP แล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำก็คือการสื่อสารภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรออกไปให้คนภายนอกรับรู้ ซึ่งแบ่งเป็นขั้นตอนง่าย ๆ 3 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 ประสาน EVP เข้ากับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์นายจ้าง

นำ EVP ที่มีอยู่มาประสานกับเข้าเป้าหมายของการทำ Employer Branding ความท้าทายและปัญหาที่ HR ต้องเผชิญอยู่ เช่น ต้องการให้เหล่าคนรุ่นใหม่มาสมัครงาน  อัตราการ Turn Over ที่สูงเกินไป และอื่นๆ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และหาจุดเด่นของบริษัท ในการช่วยแก้ไขปัญหาให้กับ HR ได้

ขั้นที่ 2 ผลิตสื่อเช่น วิดีโอ บทความ รูปถ่าย หรือจัดแคมเปญต่าง ๆ

ในการสร้างแบรนด์นายจ้างนั้น ควรเริ่มจากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคน วัฒนธรรมองค์กร ลักษณะงาน หรือสวัสดิการต่าง ๆ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนค่านิยมขององค์กรออกมมาได้ชัดเจนที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกสิ่งที่สื่อสารออกมาต้องเป็นของจริงของแท้ และตรงปกไม่จกตาใครด้วยนะ

โดยวิธีการสื่อสารสิ่งเหล่านั้นออกมาก็มีได้หลากหลายวิธี เช่น การทำวิดีโอสั้นๆให้เห็นถึงบรรยากาศการทำงาน การเขียนบทความเกี่ยวกับโอกาสในการเติบโตในองค์กรพร้อมรูปภาพประกอบ เป็นต้น  

สิ่งสำคัญคือองค์กรจะต้องแน่ใจว่าสื่อต่าง ๆ ที่ผลิตออกมานั้นสามารถสื่อสารใจความได้ตามที่องค์กรต้องการ ทั้งข้อความ รูปภาพ และ Mood & Tone เพราะจะเป็นสิ่งที่สร้างภาพจำของบริษัทให้กับผู้ชมกลุ่มเป้าหมายของคุณนั่นเอง

ขั้นที่ 3 โปรโมทออกไปทั้งในบ้าน และนอกบ้าน

เมื่อผลิตสื่อต่างๆเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการเผยแพร่สื่อนั้นออกไปสู่กลุ่มเป้าหมาย โดยองค์กรควรจะใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองเป็นช่องทางการสื่อสารขั้นต้น และหาเหล่าบุคคลที่สามที่มีชื่อเสียงมาช่วยกระจายข้อมูลของคุณ

หนึ่งสิ่งที่ต้องโฟกัสคือ การเผยแพร่มีเดียออกไปแต่ละครั้ง ไม่ใช่แค่การเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าถึงคนให้ถูกกลุ่มด้วย ไม่งั้นแล้วการสร้างแบรนด์นายจ้างก็จะไม่เกิดผล แม้ว่าจะถ่ายทอดออกมาดีเท่าใดก็ตาม

สุดท้ายนี้ การทำ Employer Branding ไม่ใช่แค่ทำไปอย่างไม่มีเป้าหมาย แต่ต้องกลับมาวัดผลด้วยว่างานทั้งหมดที่ทำลงไปนั้นสามารถแก้ไขปัญหาที่บริษัทกำลังเจออยู่ได้หรือเปล่า เช่น มีอัตราการ Turnover ลดลง หรือมีค่าใช้จ่ายในการหาพนักงานลดลงหรือไม่

นอกจากนี้ คุณไม่ควรใจร้อนเพราะการสร้างแบรนด์นายจ้างคือการรักษา Momentum บริษัทต้องหมั่นสำรวจความคิดเห็นของพนักงานอยู่เสมอว่ารู้สึกอย่างไรกับองค์กร งานที่ทำ หรือสวัสดิการต่าง ๆ และใช้สิ่งเหล่านี้สื่อสารออกไปภายนอก 

เมื่อครบ 1 ปีก็กลับมาสำรวจใหม่ว่าพนักงานยังคิดเหมือนเดิมหรือไม่ เป็นกระบวนการซำ้ไปมา ทำให้การทำ Employer Branding อาจไม่ได้เห็นผลภายใน 1-2 ปี แต่อาจใช้เวลาเป็น 10 ปีจึงจะประสบความสำเร็จอย่างบริษัทใหญ่ ๆ ที่เราเห็นนั่นเอง!

ที่มา www.workventure.com