4 เทรนด์เด่น HR ปี 2021

 

เทรนด์ HR ปีหน้าจะมีอยู่ 4 เทรนด์หลักๆ ได้แก่ 1. Lean and Mean workforce planning and hiring 2.Continuous and fast (self) learning and development 3.Tight budget for Compensation and bonus และ 4.Performance and wellness

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ที่ปรึกษาบริหาร บำรุงราษฎร์อะคาเดมี รพ.บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าจากการที่อิงเข้ากับเทรนด์โลกที่หลายสำนักได้ทำการประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้าก็ยังคงไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นเวิลด์อีโคโนมิก เอาท์ลุค,เวิล์ดแบงก์,โออีซีดี, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ไอเอ็มเอฟ เป็นต้น จึงได้มาซึ่ง 4 แนวโน้ม ดังนี้

1. Lean and Mean workforce planning and hiring

ด้วยพิษวิกฤติเศรษฐกิจ , Covid 19 และกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น ได้ส่งผลให้ในอนาคตอันใกล้หลายธุรกิจคงไม่สามารถเพิ่มจำนวนพนักงานได้ การวางแผนกำลังคนขององค์กรส่วนใหญ่ต้องทำอย่างประหยัด และระมัดระวัง ต้องจ้างคนน้อยลง แต่บริษัทมีความต้องการพนักงานที่มีทักษะรอบตัว คนเดียวแต่สามารถทำงานได้หลายอย่าง หลายหน้าที่

"บางบริษัทอาจไม่สามารถจ้างพนักงานเต็มเวลา ทำให้คนส่วนใหญ่ผันตัวเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น รับงานหลายที่ มีความคล่องตัว มองว่าบางอาชีพเช่น ดีไซน์เว็บไซต์ อีมาร์เก็ตติ้งจะรุ่ง รับงานได้ตามใจชอบ สำหรับองค์กรแล้วจะได้ประโยชน์เพราะการจ้างพนักงานชั่วคราวไม่ต้องลงทุนเรื่องสวัสดิการ แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตเหล่าฟรีแลนซ์จะมองถึงความมั่นคง และก็ต้องมีกฏหมายขึ้นรองรับเพื่อเป็นหลักประกันให้พวกเขา"

นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันก็คือ การมีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม ดังนั้นทุกๆองค์กรจำเป็นต้องโฟกัส ให้ความสำคัญในแง่ของความแตกต่างหลากหลาย ต้องเปิดกว้างทางความคิด เนื่องจากคนทำงานย่อมมีความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นวัย เพศ ความคิด ระดับการศึกษา ฯลฯ ทำให้มีความคิด ความคาดหวัง ความต้องการที่แตกต่างกันไป

2. Continuous and fast (self) learning and development

การพัฒนาคนจากนี้จะไม่ใช่การป้อนความรู้ แต่ทุกคนหากต้องการเติบโตต่อในโลกการทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มศักยภาพด้วยตัวเอง

"ซึ่งก็อาจไม่ตรงกับนิสัยของคนไทย เนื่องจากประสบการณ์ที่เคยเป็นอาจารย์มาก่อน พบว่าคนที่จะตั้งใจเรียนเองมีน้อยมาก คนไทยชอบมีคนมาสอน ชอบนั่งฟัง แม้เวลานี้หลายองค์กรจะมีแพลตฟอร์มให้พนักงานเรียนรู้ด้วยตัวเองแต่ก็ไม่ค่อยมีคนเรียน แต่ในบริบทที่ท้าทายแบบนี้ทุกๆ คนจำเป็นต้องพัฒนาตัวเอง ทั้งรีสกิล อัพสกิล เพราะจะต้องทำงานในหลายหน้าที่ ทำงานได้หลายอย่าง ไม่เช่นนั้นอาจมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างชาวสวนเวลานี้ สามารถไลฟ์สดขายผักผลไม้จากสวนได้ทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเขาเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ที่ช่วยทำให้เขาสามารถหารายได้ได้"

3. Tight budget for Compensation and bonus

ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ อ.ศิริยุพาฟันธงว่าเงินเดือน โบนัส คงขึ้นได้ยากมากถึงมากที่สุด เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีอาการน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน แน่นอนว่ามีบางธุรกิจที่อาจโตสวนกระแส สามารถขึ้นเงินเดือน จ่ายโบนัสแต่คงมีน้อยมากๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่

4. Performance and wellness

เมื่อธุรกิจอยู่ในอาการร่อแร่ เหล่านายจ้างอาจจะต้องทำการเค้นผลงานลูกจ้างกันแบบเข้มข้นขึ้น มีการกำหนดตัววัดกันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

"เพราะการจ้างคนก็คือการลงทุน ถ้าบริษัทไม่เห็นเม็ดเงิน ไม่เห็นผลงานเขาก็คงไม่ว่าจ้าง แต่ในเวลาเดียวกันท่ามกลางวิกฤติย่อมส่งผลให้สภาพจิตใจพนักงานย่ำแย่และกระทบต่อการทำงานการสร้างผลงาน นายจ้างก็ควรซัพพอร์ต ต้องเห็นอกเห็นใจกันและกัน ต้องดูแลกันด้วย"

ทั้งยังได้มองต่อถึงเทคโนโลยีที่จะเข้ามาในโลกการทำงานของ HR ว่าบริษัทในประเทศไทยในปัจจุบันยังคงมีแต่บริษัทใหญ่เท่านั้นที่มีกำลังซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในงานบริหารทรัพยากรบุคคลได้ อย่างไรก็ดี หลังจากที่เกิดวิกฤติโควิด-19 และทำให้ทุกบริษัทประกาศให้พนักงานเวิร์คฟอร์มโฮม ที่สุดก็ได้ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการประชุม การรีครูทสัมภาษณ์คน การดูแลให้คำปรึกษากันผ่านทางช่องทางดิจิทัล ฯลฯ กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป อ.ศิริยุพามองว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในงาน HR มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำมาใช้ในการวิเคราะห์คนเก่ง เพื่อสรรหาคนที่ใช่ คนที่องค์กรต้องการเข้ามาในจำนวนพอดีๆ และมาช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดให้องค์กร เป็นต้น

สิ่งที่ HR Leaders จำเป็นต้องมี ก็คือ IDEA (I-Innovation,D-Digital,E-Engagement,A-Agility) อย่างไรก็ดี อ.ศิริยุพากล่าวว่าแทบทุกอาชีพต้องการคนที่เรียนรู้และสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน สามารถคิดวิเคราะห์หาทางออกเวลาที่พบเจอปัญหาในการทำงานได้เป็นอย่างดี

"คนทุกอาชีพควรต้องมองภาพรวมได้ คิดวางแผน วางกลยุทธ์ได้ คิดเป็นด้วยตัวเอง และนำเสนอทางแก้ปัญหาให้นายจ้างได้ โดยเฉพาะงาน HR ที่ควรต้องเป็นคนมีวิชั่น มีแพชชั่นคือต้องคิดหาทางว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ทั้งตัวเองและคนอื่นทำงานได้อย่างมีพลัง ไม่ได้ทำงานไปวันๆ แต่ต้องหาความหมายในชีวิต และยังช่วยให้คนอื่นหาความหมายในชีวิตการทำงานได้ด้วย"

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ