หักค่าจ้างจากสวัสดิการกู้ยืม ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

นายจ้างจัดสวัสดิการกู้ยืมให้ลูกจ้าง จะหักค่าจ้างได้หรือไม่

นายจ้างหรือHR หลายคนอาจกำลังคิดช่วยเหลือลูกจ้างด้วยการให้กู้ยืมฯ แต่การชำระเงิน จะใช้การหักจากค่าจ้าง เพราะถ้ารอให้มาชำระเอง อาจจะมีหนี้สูญจำนวนมาก

วิธีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า "ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด" แต่มีข้อยกเว้นให้หักได้กรณี "เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง"

ดังนั้น หากนายจ้างประสงค์จะหักจัดสวัสดิการเงินกู้แก่ลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นสวัสดิการช่วยเหลือลูกจ้างนายจ้างจะต้องจัดออกมาให้เห็นว่า

๑) นายจ้างไม่ได้ประโยชน์ใดๆจากเงินกู้

๒) การคืนเงินไม่มีการคิดดอกเบี้ย

๓) อาจมีการเขียนวัตถุประสงค์ให้ชัดว่าเป็นการให้กู้เพื่อสวัสดิการและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างเท่านั้น

๔) ในการหักเงินจะต้องให้ลูกจ้างทำหนังสือให้ความยินยอมเอาไว้แต่ต้น

๕) ไม่ควรหักเกินร้อยละ ๑๐ ของค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด หรือถ้ามีกรณีที่นายจ้างหักค่าจ้าง หลายรายได้ตามข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนดเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ ๒๐ ของค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด

๖) หลักเกณฑ์การหักเงินข้างต้นใช้เฉพาะกับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เท่านั้นที่หักได้ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ดังนั้น หากเป็นเงินอื่น เช่น โบนัส หรือเงินอื่นๆ นายจ้างสามารถหักได้โดยไม่ต้องพิจารณาข้อยกเว้น และจำนวนเงินก็สามารถหักเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้เต็มจำนวน

 

ที่มา เพจกฎหมายแรงงาน และ ข้อหารือกองนิติการ ที่ รง ๐๕๐๕/xxxx ลว xx มีค ๖๒