สแกนตัวเองว่าเป็นคนแบบไหนไม่ให้หมดไฟทำงาน

          ภาวะหมดไฟทำงานหรือ Burnout Syndrome สามารถเกิดขึ้นกับได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ทำงานมาก่อนหรือเพิ่งเริ่มต้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมและบริบทการทำงานปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนจากเมื่อก่อน น้องบีพลัสจะมาแนะนำวิธีการจัดการให้ตัวเองไม่หมดไฟทำงานได้ง่ายๆ

 

1. ภาวะหมดไฟไม่ใช่โรคซึมเศร้า

อาการคล้ายๆ จะหมดใจกับสิ่งหนึ่งจนส่งผลกระทบต่อตัวเองอยู่ 3 ด้านคือ

“อารมณ์” ที่อาจเกิดอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด หดหู่ โมโหร้ายขึ้นมาได้

“ความคิด” ที่อาจรู้สึกระแวงและมองคนอื่นในแง่ลบ จนไม่เชื่อในศักยภาพของตัวเอง

“พฤติกรรม” ที่ไม่อยากไปทำงานเพราะไม่มีความสุข หรือไปสาย ไม่มีสมาธิเวลาทำงาน จนกระทั่งไปถึงขั้นไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ และบางครั้งอาจมีผลไม่อยากปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

 

2. เช็ก 3 อาการด่วนเพราะขั้นภาวะหมดไฟแล้ว

ภาวะที่เกิดขึ้นทางจิตใจจนกระทบยังร่างกาย

          - รู้สึกอ่อนเพลียหรือรู้สึกสูญเสียพลังงาน ส่งผลต่อร่างกายเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ

          - รู้สึกต่อต้านและมองงานของตัวเองในแง่ลบเหมือนขาดแรงจูงใจที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จ หากอาการรุนแรงจะนำไปสู่โรคนอนไม่หลับหรือฝันร้าย 

          - รู้สึกเหินห่างจากคนอื่น ทั้งเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า รวมถึงขาดความผูกพันกับสถานที่ทำงาน อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออก

 

3.สกัดกั้นภาวะหมดไฟตามบุคลิก

- Direct Communicators มีภาวะเป็นผู้นำ เป็นคนมีความมุ่งมั่นแบบแผนชัดเจน ทุ่มกับงาน ชนิดที่ยอมให้อีเมล์ขึ้นข้อความที่ยังไม่ได้อ่านไม่ได้เด็ดขาด

          วิธีเลี่ยงภาวะหมดไฟ ด้วยการต้องหากเวลาพัก รักษาความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตตัวเองบ้าง หรือเบรกอารมณ์ด้วยการหาเรื่องชวนหัว สนุกเฮฮาบ้าง

 

Reflective Communicators ชอบช่วยเหลือแทบไม่เกี่ยง เลี่ยงความขัดแย้ง ไม่ค่อยออกความคิดเห็น ซึ่งอาจกลายเป็นปมปัญหาอื่นตามมาเพราะเกิดการสื่อสารคลาดเคลื่อนได้ 

          วิธีเลี่ยงภาวะหมดไฟ ต้องรู้จักปฏิเสธคนอื่น กล้าพูดในสิ่งที่ต้องการพูด จะทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันมากขึ้น

 

Outgoing Communicators อัธยาศัยดี เข้ากับคนอื่นง่าย ชอบทำงานเป็นทีม คนกลุ่มนี้จะเกิดภาวะหมดไฟมากในช่วงต้องทำงานที่บ้าน ไม่ได้ออกไปพบปะผู้คน

          วิธีเลี่ยงภาวะหมดไฟ บริหารจัดการเวลาจดจ่อกับงานกับแบ่งเวลาพักให้ดี

 

Reserved Communicators พูดน้อย รักสงบ ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ การทำงานที่บ้านน่าจะถูกจริตคนกลุ่มนี้มากที่สุด แต่เวลาประชุมออนไลน์มักปิดกล้อง ไม่ค่อยโต้ตอบซึ่งอาจทำให้เกิดการสื่อสารผิดพลาดได้

          วิธีเลี่ยงภาวะหมดไฟ ลองใช้โปรแกรมแชตโต้ตอบระหว่างประชุมมากขึ้นหรือเปิดกล้องสนทนาในบางโอกาส เพื่อสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงานให้ดีขึ้น

 

Predictable Communicators ใจเย็น สุขุมรอบคอบ ทำงานเป็นระบบ ยึดกฎระเบียบ ให้ความร่วมมือดีและเป็นที่ปรึกษาให้ผู้อื่น แต่ความไม่ชอบยืดหยุ่นอาจทำให้กดดันการทำงานเกินไป

          วิธีเลี่ยงภาวะหมดไฟ ควรผ่อนคลายความกังวลในเรื่องต่างๆ บ้าง และแชร์ความคิดเห็นกับผู้อื่นมากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสร้างการทำงานเป็นทีม

 

Dynamic Communicators ร่าเริง กระตือรือร้นตลอดเวลา เวลาทำงานยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ แต่ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน

          วิธีเลี่ยงภาวะหมดไฟ ต้องค้นหาเครื่องมือที่จะช่วยให้ตัวเองสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และมีสมาธิมากขึ้น

 

Compliant Communicators ช่างสังเกต วิเคราะห์อย่างมีเหตุผล มีวินัย ทำงานตามขั้นตอนและแบบแผนที่วางไว้ มุ่งมั่นตั้งใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผลลัพธ์ต้องดี ความเสี่ยงคือชอบทำงานทั้งวันแบบไม่มีหยุด กลัวทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่วางไว้

          วิธีเลี่ยงภาวะหมดไฟ ควรกำหนดตารางในวันทำงานใหม่ แบ่งเวลาพัก และไม่ผิดที่จะปฏิเสธเสียงขอความช่วยเหลือบ้าง

 

Pioneering Communicators รักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ชอบความท้าทาย ชอบทำโปรเจคใหม่ๆ หรือขั้นตอนใหม่โดยเร็ว จนเกิดความเหนื่อยล้า เครียด และกดดัน จนจำนวนงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

          วิธีเลี่ยงภาวะหมดไฟ รู้จักอดทนต่อสิ่งต่างๆ และจัดตารางงานแต่ละวันให้ชัดเจน

 

ที่มา SCB