สิ่งหนึ่งที่เหล่า Startup ทั้งหลายมักจะหลงลืมหรือมึนงง นั่นก็คือ “เรื่องการเสียภาษี” พอรู้สึกตัวอีกทีก็แย่แล้ว ทำไมถึงวุ่นวายแบบนี้ ทั้งเอกสารบัญชีพี่สรรพากร และปัญหามากมายอีกร้อยแปด ดังนั้นผู้ประกอบการมือใหม่ควรรู้ว่าถ้าหากเปิดบริษัท Startup แล้วเราจะจัดการภาษีอย่างไรดี
ก่อนอื่นต้องแยกก่อนว่าภาษีที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ทำ Startup นั้นจะมีอยู่สองประเภทหลัก ๆ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัท Startup ที่จดทะเบียนในประเทศไทยนั้นจะคำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษีที่เกิดขึ้นในแต่ละปี (ปกติคือรอบวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม) และคูณด้วยอัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนด และบริษัทมีหน้าที่ยื่นนำส่งข้อมูลนี้แก่กรมสรรพากรภายใน 150 วันหลังจากวันปิดรอบบัญชี (ปกติคือวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป) ด้วยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50)
สำหรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปัจจุบัน ถ้าเป็นบริษัททั่วไป จะเสียภาษีอยู่ในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าหากเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก และได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราพิเศษ 15% สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 3,000,000 บาท สำหรับกำไรส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท จะเสียภาษีในอัตราปกติ 20% (อ้างอิงตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 583 พ.ศ. 2558) ถ้าหากรายได้ของ Startup ยังไม่มากนักในช่วงเริ่มแรก การจดทะเบียนในรูปแบบหลังจะช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากกว่า
กำไรสุทธิ |
อัตราภาษี |
0 - 300,000 บาทแรก |
ยกเว้น |
ตั้งแต่ 300,001 - 3,000,000 บาท |
15% |
กำไรส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท |
20% |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริษัท Startup คือ ภาษีที่เก็บจากยอดขายสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน (จัดเก็บในอัตรา 7%) โดย Startup ที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ของแต่ละเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป พร้อมทั้งจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
สำหรับวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จะคำนวณโดยการใช้
คือ นำยอดที่เราเรียกเก็บจากทางผู้บริโภคหรือคนที่ซื้อสินค้าและบริการเรา (ภาษีขาย) มาหักออกจากยอดภาษีที่เราได้จ่ายให้กับผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการ (ภาษีซื้อ) นั่นเอง ผลต่างที่ได้มานั้น ถ้าหากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ เราก็มีหน้าที่นำส่งกรมสรรพากร แต่ถ้าหากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย เราก็มีสิทธิขอคืนได้
โดยในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จะมีทางเลือกให้กับบริษัท Startup ครับว่า ถ้าหากรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ก็สามารถเลือกที่จะไม่เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ครับ แต่ถ้าหากมั่นใจว่ารายได้เกินแน่ ๆ ก็เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหากับทางสรรพากร
ที่มาบทความโดย By TaxBugnoms www.krungsri.com