เป็นนายหน้าขายของออนไลน์อย่างไร ไม่ให้โดนภาษีบาน

ปัจจุบันผู้คนหันมาให้ความสนใจประกอบอาชีพนายหน้าขายของออนไลน์ หรือ Affiliate Marketing บนร้านค้าออนไลน์กันมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่ารายได้เหล่านั้นต้องเสียภาษี รวมถึงสรรพากรมีวิธีการตรวจยังไงก็เจออีกด้วย

Affiliate Marketing คืออะไร

Affiliate Marketing หรือ นายหน้าขายของออนไลน์ เป็นระบบที่เกิดขึ้นมานานแล้วในต่างประเทศ ส่วนในไทยเกิดขึ้นมาหลังมีแพลตฟอร์ม เช่น Shopee Lazada Tiktok ที่จะให้คนทั่วไปลงทะเบียนเป็น นายหน้าฯตามแต่ละแพลตฟอร์มก่อน แล้วนำลิงก์สินค้าจากแพลตฟอร์มร้านค้า ไปโพสต์ ไปแชร์ ให้คนมากดซื้อ เมื่อสินค้าขายได้ ก็จะได้รับค่านายหน้า หรือ Commission ซึ่งข้อดีของการทำ Affiliate Marketing แบบนี้คือ ไม่ต้องมีร้านเป็นของตัวเอง ไม่ต้องมีสินค้า ไม่ต้องส่งสินค้าเอง เป็นแค่นายหน้ารับค่า Commission เท่านั้น เรียกได้ว่านอนเฉยๆก็มีเงินเข้าบัญชีแบบสบายๆ

มีรายได้แต่ไม่ยื่น สรรพากรตรวจเจออยู่แล้ว

หลายคนที่ทำ Affiliate Marketing มาสักพัก มีรายได้เข้ามา อาจมีความชะล่าใจ ไม่ยอมยื่นภาษี หรือถ้ายื่นก็อาจยื่นรายได้ไม่ครบถ้วน ซึ่งก็อาจคิดว่าสรรพากรคงไม่รู้ว่ามีรายได้เข้ามา ต้องบอกว่าถ้าใครกำลังทำแบบนี้ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะโดนโทษตั้งแต่เสียเบี้ยปรับ ไปจนถึงจำคุก

​เพราะในความเป็นจริงสรรพากรสามารถตรวจสอบข้อมูลรายได้ของเราได้จากหลายช่องทาง ทั้งจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada Tiktok Shopee มีการส่งข้อมูลรายได้ของเราแต่ละปี ให้กับกรมสรรพากรเองอยู่แล้ว รวมถึงสรรพากรสามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีธนาคาร ที่ทางธนาคารต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรทุกปีอยู่แล้วอีกด้วย รวมถึงยังไม่นับอีกหลายวิธีที่สรรพากรใช้ เรียกได้ว่า ชีวิตนี้มี 2 สิ่งที่หนีไม่พ้น คือความตาย และการเสียภาษี

ไม่เคยยื่นเลย ทำอย่างไรดี

คำตอบคือให้เริ่มยื่นให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนตรวจสอบภาษีย้อนหลัง เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับกรมสรรพากร ซึ่งหากเกิดการตรวจสอบย้อนหลัง จะถูกตรวจสอบย้อนหลังโดยปกติทั่วไป 2 ปี สูงสุด 5 ปี แต่ถ้าไม่คิดจะยื่นภาษีเลย สรรพากรมีอำนาจตรวจสอบย้อนหลังสูงสุดถึง 10 ปี ซึ่งโดยปกติแล้วสรรพากรก็จะใช้อำนาจเข้มงวดกับคนที่ไม่ยื่นภาษีมากกว่า ดังนั้นแนะนำควรเริ่มยื่นให้ถูกต้องตามกฎหมาย

รายได้จากการทำ Affiliate Marketing สามารถยื่นรายได้ผ่านเอกสาร ภ.ง.ด.90 โดยสามารถนำรายได้ ไปกรอกในรายการเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (ถ้ารับเงินเดือนอยู่แล้ว และใช้สิทธิ์หักค่าใช้จ่าย 100,000 บาทแล้ว จะไม่สามารถใช้ได้อีก) รวมถึงสามารถใช้สิทธิ์ค่าลดหย่อนส่วนตัว และครอบครัว ดอกเบี้ยบ้าน เงินบริจาค ได้อีกด้วย โดยแนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติม

หักค่าลดหย่อนแล้ว แต่ยังต้องเสียภาษีอีกเยอะทำไงดี

แนะนำใช้ตัวช่วยลดหย่อนภาษี อย่างกองทุน SSF และ RMF ที่ซื้อรวมกันแล้วสามารถนำไปลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท 

● SSF ซื้อได้ 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

● RMF ซื้อได้ 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องรวม SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันบำนาญด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถซื้อประกันชีวิต และสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีรวมกันได้สูงสุด 100,000 บาท จะซื้อประกันชีวิต 100,000 บาทก็ได้ หรือหากซื้อไม่ถึง 100,000 บาท ก็สามารถนำประกันสุขภาพมาบวกเพิ่มได้สูงสุด 25,000 บาท

 

ที่มา www.kasikornbank.com