การเป็นผู้ทำบัญชีและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การเป็นผู้ทำบัญชี

ผู้ทำบัญชี หมายความว่า ผู้รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี มี 5 ประเภท คือ

  1. ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
  2. บริษัทจำกัด
  3. บริษัทมหาชนจำกัด
  4. กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร
  5. นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

คุณสมบัติของผู้ทำบัญชี

  1. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
  2. มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ทำบัญชีได้
  3. เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีหรือขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี
  4. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในมาตรา 39(3) แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชีพ.ศ. 2547 เว้นแต่ต้องคำพิพากษา หรือ พันโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
  5. มีคุณวุฒิการศึกษา แบ่งตามขนาดธุรกิจ ได้ 2 ระดับ
    • ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่า สามารถเป็นผู้ทำบัญชีให้กับธุรกิจได้ทุกประเภทและทุกขนาดกิจการ
    • ต่ำกว่าปริญญาตรี แต่ไม่ต่ำกว่านุปริญญาหรือปวส.ทางการบัญชีหรือเทียบเท่าสามารถเป็นผู้ทำบัญชีให้กับธุรกิจได้เฉพาะห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัดที่ ณ วันปิดรอบปีบัญชีที่ผ่านมา มีทุกรายการต่อไปนี้
      • ทุนจดทะเบียน ไม่เกิน 5 ล้านบาท *
      • สินทรัพย์รวม ไม่เกิน 30 ล้านบาท
      • รายได้รวม ไม่เกิน 30 ล้านบาท

*ในกรณีเป็นรอบปีบัญชีแรกของธุรกิจ ให้ดูจากทุนจดทะเบียนของธุรกิจนั้น

ผู้ที่มีคุณสมบัติของผู้ทำบัญชีและได้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี

  1. แจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีครั้งแรกภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับทำบัญชี ที่ระบบงานผู้ทำบัญชี (e-Accountant) ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th
  2. ยื่นคำขอผ่านระบบออนไลน์
  3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
    • หากอนุมัติ รับแจ้งเป็นผู้ทำบัญชีเมื่อเป็นผู้ทำบัญชีแล้ว"ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี"
    • กรณีไม่อนุมัติ ให้แก้ไขคำขอ

เงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี

เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี กรณีต่ออายุสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ดำเนินการได้ที่ระบบสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี www.tfac.or.th หากไม่ดำเนินการต่ออายุสมาชิกสภาฯ จะทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ทำบัญชี และไม่สามารถเข้าใช้ระบบงานผู้ทำบัญชี (e-Accountant) ได้

การรับทำบัญชี รับทำบัญชีของธุรกิจได้ไม่เกิน 100 รายต่อปีปฏิทิน (โดยนับตามจำนวนรายธุรกิจ ไม่ได้นับตามรอบปีบัญชีงบการเงิน)

ผู้ทำบัญชีต้องเข้าระบบงานผู้ทำบัญชี (e-Accountant) เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ดำเนินการต่อไปนี้ ที่ ระบบงานผู้ทำบัญชี (e-Accountant) ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th

แจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ต้องแจ้งรายละเอียดการทำบัญชีภายใน 30 วันนับแต่วันที่เริ่มทำบัญชีการแจ้งเป็นผู้ทำบัญชีครั้งแรกข้อมูลที่ต้องแจ้ง ประกอบด้วย

  • ข้อมูลของผู้ทำบัญชี ได้แก่ ชื่อ-สกุล ที่อยู่ วุฒิการศึกษาเบอร์โทร อีเมล เป็นต้น
  • ข้อมูลการรับทำบัญชี คือ ธุรกิจที่รับทำบัญชี

ยืนยันรายชื่อธุรกิจ และยืนยันสมาชิกสภาฯ ยืนยันรายชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชี และยืนยันการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีภายในวันที่ 30 มกราคมของปีถัดไป (เริ่มยืนยันได้ตั้งแต่ 1 มกราคมของปีถัดไป แต่ไม่ควรเกิน 30 มกราคม)

กรณีมีการเปลี่ยนแปลง ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่แจ้งไว้ต้องแจ้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

  • ข้อมูลของผู้ทำบัญชี ได้แก่ ชื่อ-สกุล ที่อยู่ วุฒิการศึกษาเบอร์โทร อีเมล เป็นต้น
  • ข้อมูลการรับทำบัญชี คือ แจ้งเพิ่ม หรือ ยกเลิก ธุรกิจที่รับทำบัญชี (การแจ้งเพิ่ม หรือ ยกเลิก ต้องทำภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับทำ หรือ ยกเลิกทำบัญชีให้ธุรกิจ)

การขอกลับมาเป็นผู้ทำบัญชี (กรณีแจ้งยกเลิกการเป็นผู้ทำบัญชี) ต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ทำบัญชี กรณีก่อนยกเลิก มีชั่วโมง CPD ไม่ครบ ต้องเข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องฯให้ครบจำนวนชั่วโมงตามระยะเวลาที่ขาดหายไปก่อนยกเลิกแต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 24 ชั่วโมง

พัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี CPD ต้องพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปีปฏิทิน มีชั่วโมงบัญชีไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง แจ้งชั่วโมง CPD ได้ทันทีหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม แต่ไม่เกิน 30 มกราคมของปีถัดไป

โดยแจ้งได้ 2 ช่องทาง คือ

1) ระบบงานผู้ทำบัญชี (e-Accountant)

2) ระบบ CPD Online ของสภาวิชาชีพบัญชี

หากไม่พัฒนาความรู้ต่อเนื่องฯ หรือชั่วโมง CPD ไม่ครบ แม้ว่าถูกเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายแล้ว ต้องเข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องฯ (CPD) ให้ครบจำนวนชั่วโมงตามระยะเวลาที่ขาดหายไป แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ไม่นับรวมจำนวนชั่วโมงในปีปัจจุบัน

ที่มา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า DBD