ผลของการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านและผู้ประกอบการได้ตระหนักเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ทั้งในทางกฎหมายและในทางธุรกิจ
           จากแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรในการพิจารณาลักษณะและพฤติกรรมในการออกใบกำกับภาษี ประกอบกับบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรแล้ว ใบกำกับภาษีปลอมจะหมายความถึง “ใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี” และการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกันจริง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งกรมสรรพากรได้1 เนื่องจากเข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี2 อันเป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่หากผู้ประกอบการนำภาษีซื้อต้องห้ามนั้นมาใช้แล้วจะมีผล ดังนี้
ผลทางกฎหมาย
     1. เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ให้ถูกต้องได้ โดยไม่ให้นำภาษีซื้อต้องห้ามดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายซึ่งจะทำให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น 3
     2. ต้องเสียเบี้ยปรับเป็นจำนวน 2 เท่า ของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีปลอม4 และเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งงดหรือลดเบี้ยปรับลงได้ 5
     3. ต้องเสียเงินเพิ่มเป็นจำนวนร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระหรือนำส่ง (ไม่รวมเบี้ยปรับ) ทั้งนี้ ไม่เกินกว่ามูลค่าของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง
     4. กรณีนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้โดยเจตนา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท ต่อใบกำกับภาษี 1 ใบ
     5. เจ้าพนักงานประเมินอาจไม่ให้นำรายจ่ายตามใบกำกับภาษีปลอม มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกส่วนหนึ่งด้วย


ผลทางธุรกิจ
     1. การที่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอม หรือภาษีซื้อต้องห้ามอื่น ๆ มาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งได้นั้น ทำให้ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นกว่ากรณีที่สามารถนำภาษีซื้อมาใช้ได้ ซึ่งจะทำให้กำไรจากการขายสินค้าหรือให้บริการลดลง ตามที่ได้ยกตัวอย่างไว้ในตอนที่ 1

     2. กรณีนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง และถูกเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มนั้น ทำให้ต้องเสียภาษีสูงสุดถึง 4 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ขาดสภาพคล่อง หรือไม่อาจดำเนินการต่อไปได้

     3. กรณีเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว หากผู้ประกอบการที่ถูกประเมินไม่ชำระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะถือว่ามีหนี้ภาษีอากรค้าง6 ซึ่งเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรมีสิทธิที่จะเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้างโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ประกอบการได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล

     4. กรณีผู้ประกอบการถูกประเมินภาษีแล้วไม่เห็นด้วยกับการประเมินก็จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมิน และหากมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วไม่เห็นด้วยอีกก็จะต้องฟ้องคดีต่อศาลต่อไป ทั้งนี้ แม้จะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์หรือฟ้องคดีต่อศาลก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรค้างตามข้อ 3. เช่นเดิม

     5. กรณีผู้ประกอบการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฟ้องคดี แล้วแต่กรณี แต่ยังมิได้ชำระหนี้ภาษีอากรค้างเพราะเห็นว่าคดียังไม่ถึงที่สุด และไม่ต้องการให้เจ้าพนักงานสรรพากรมาเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้างนั้น ผู้ประกอบการจะต้องหาหลักประกันมาวางต่อกรมสรรพากร เพื่อเป็นการทุเลาการเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้าง

         จะเห็นได้ว่า ตามข้อ 3-5 อาจส่งผลกระทบต่อรายจ่ายในการประกอบกิจการ ผลกำไร และสภาพคล่องทางการเงินและการบริหารจัดการของธุรกิจได้

         ดังนั้น ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยเฉพาะในการซื้อสินค้ามาจากผู้ประกอบการจดทะเบียนรายใดนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อเป็นอย่างสูง ทั้งการตรวจความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบประวัติการประกอบกิจการ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และพฤติกรรมการประกอบกิจการที่ไม่เข้าลักษณะดังกล่าวข้างต้น


แหล่งที่มา https://www.dlo.co.th/tax-articles/6073