สัญญาจ้าง 2 ฉบับ

บริษัทแห่งหนึ่งให้พนักงานใหม่ทำสัญญาจ้าง 2 ฉบับ คือ ฉบับแรกเป็นสัญญาจ้างทดลองงาน โดยมีวันเดือนปีที่เริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาชัดเจน ถ้าหากไม่ผ่านทดลองงานก็ถือว่าสัญญาสิ้นสุดโดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ แต่ถ้ามีผลงานดีจะให้เซ็นสัญญาจ้างอีก 1 ฉบับ โดยจะเริ่มนับอายุงานตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป (ฉบับแรกยังไม่นับอายุงานให้) คำถามคือบริษัททำแบบนี้ได้ไหม ?

1.ในกฎหมายแรงงานไม่มีการกำหนดว่าจะต้องให้มีการทดลองงาน การทดลองงานเป็นเรื่องที่นายจ้างกับลูกจ้างมาตกลงกันเอง แต่ที่กำหนดไม่ให้เกิน 119 วัน เพราะถ้าพนักงานทดลองงานทำงานไม่ดี หรือมีปัญหาใดๆ ระหว่างการทดลองงานแล้ว บริษัทอยากจะเลิกจ้างแต่พนักงานไม่ยอมเขียนใบลาออก บริษัทจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน (ที่กำหนด 119 วัน เพราะตามกฎหมายนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน ไม่เกิน 1 ปี เป็นค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน) แต่ถ้าพนักงานเขียนใบลาออก บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ เพราะถือว่าพนักงานสมัครใจลาออกเอง

2.กรณีที่บริษัทแจ้งเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงาน แม้ว่าพนักงานทดลองงานอายุงานยังไม่ครบ 120 วัน ซึ่งบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยก็ตาม แต่บริษัทยังต้องจ่าย “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” หรือ “ค่าตกใจ” ด้วย ซึ่งค่าตกใจนี้มีอัตราจ่าย 1-2 เดือน (กรณีที่บริษัทจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1 ครั้ง) ถ้าบอก ณ วันจ่ายค่าจ้างพอดีก็จ่าย 1 เดือน แต่ถ้าบอกหลังวันจ่ายค่าจ้างไป 1 วันก็ต้องจ่าย 2 เดือน

3.การทำสัญญาทดลองงานที่มีระยะเวลาของบริษัทนี้จะถือว่าเป็นสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา หรือสัญญาจ้างพนักงานประจำตามปกติ เพราะตามมาตรา 17 ของกฎหมายแรงงานระบุชัดเจนว่า “…ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย…” ดังนั้น ถ้าบริษัทจะอ้างว่าพนักงานไม่ผ่านทดลองงาน บริษัทก็มีสิทธิเลิกจ้างได้ โดยถือว่าเป็นไปตามสัญญานี้ เช่น บริษัททำสัญญาทดลองงานตั้งแต่ 1 ม.ค.-28 มิ.ย. 63 (180 วัน) เมื่อถึงวันที่ 28 มิ.ย. 63 บริษัทแจ้งพนักงานว่าผลงานไม่ดี ไม่ผ่านทดลองงานให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดไปตามระยะเวลา โดยบริษัทจะไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ โดยอ้างสัญญาจ้างทดลองงานฉบับนี้ ก็บอกได้ว่าบริษัททำผิดกฎหมายแรงงาน ซึ่งถ้าพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานบริษัทก็แพ้คดีแน่นอน

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงสรุปได้ว่าบริษัทที่ทำสัญญาจ้าง 2 ฉบับแบบนี้ไม่ควรทำ และอย่ากระทำเลย นอกจากจะดูเป็นการเอาเปรียบพนักงาน สร้างภาพลักษณ์แย่ๆให้บริษัทแล้ว ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ใช้บังคับอะไรไม่ได้ แถมถ้ายังทำและฝืนใช้ไปก็ผิดกฎหมายแรงงาน เสียเวลาเปล่า สู้เอาเวลาไปทำเรื่องอื่นที่เป็นมรรคเป็นผลดีกับบริษัทจะดีกว่า

 

ที่มา prachachat