บริษัทออกกฎ ห้ามลาเกิน 3 วันต่อเดือน ลากิจได้ 1 วัน ลาพักร้อนได้ 2 วัน กฎแบบนี้ใช้ได้หรือไม่

          กฎหมายได้เขียนรองรับ สิทธิในการลา ของลูกจ้างเอาไว้ คือ วันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ซึ่งลาได้ปีละ 3 วันโดยได้รับค่าจ้างตลอด 3 วัน

ลาพักร้อน หรือ วันหยุดพักผ่อนประจำปี กฎหมายให้หยุดได้ปีละ 6 วัน เป็นอย่างน้อย (หยุดมากกว่านี้ก็ได้) โดยได้รับค่าจ้างตลอดทั้ง 6 วัน โดยนายจ้างจะประกาศให้ทราบ หรือนายจ้างอาจให้เลือกหยุดเองก็ได้ ส่วนหลักเกณฑ์การลา หรือการหยุด กฎหมาย(มาตรา 108) กำหนดให้นายจ้างต้องเขียนไว้ใน "ข้อบังคับในการทำงาน"

          กรณีนายจ้างกำหนดให้หยุดพักผ่อนประจำปีได้เดือนละ 2 วัน กรณีนี้เป็นการจำกัดโควต้าห้ามหยุดเดือนละ 2 วัน เบื้องต้นต้องเข้าใจว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือลาพักร้อน นายจ้างสามารถประกาศให้ลูกจ้างหยุดได้ ดังนั้น การกำหนดโค้วต้าให้เดือนหนึ่งไม่เกิน 2 วัน ก็สามารถทำได้

          ส่วนวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น หรือวันลากิจ หลักเกณฑ์นายจ้างอาจกำหนดให้ยื่นใบลาก่อน 1 หรื 2 วันก็ได้ ส่วนที่ว่าจะให้หยุดหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าเหตุผลในการลาเป็น "ธุระอันจำเป็นหรือไม่" ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการลา 3 วันต่อปี จะลาได้ไม่เกิน 2 วันต่อเดือน ดังนั้น ข้อบังคับส่วนนี้ที่กำหนดโค้วต้าจำกัดไว้ไม่เกินเดือนละ 2 ครั้งจึงเป็นโมฆะ

 

แล้วถ้าลาครบ 3 วันต่อเดือนแล้ว ลูกจ้างลาป่วยอีกจะได้หรือไม่ และได้ค่าจ้างหรือไม่
          การลาป่วยจะต้องเกิดจาก "การป่วย" อันเป็นภาวะที่ร่างกายมีอาการผิดปกติจากเชื้อโรค และลูกจ้างมีสิทธิลาได้เท่าที่ป่วยจริง ดังนั้น แม้ในเดือนนั้นจะลาเกิน 3 วันแล้วตามข้อบังคับข้างต้น แต่ข้อบังคับก็จะขัดต่อกฎหมาย(มาตรา 12) ที่ให้ลาได้เท่าที่ป่วยจริงไม่ได้
ดังนั้น ลูกจ้างจึงยังมีสิทธิลาป่วยได้ ส่วนค่าจ้างจะได้ไม่เกิน 30 วัน หากลาป่วยยังไม่เกิน 30 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง ส่วนที่ว่าจะหักค่าจ้างนั้น กฎหมายแรงงาน(มาตรา 76) ห้ามมิให้หักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุด

          กรณีนี้ถ้าลูกจ้างลากิจ 2 วัน พักร้อน 1 วัน ป่วยอีก 2 วัน และในเดือนนั้นอาจมีวันหยุดอีก 3 หรือ 4 วัน จะเห็นว่าลูกจ้างใช้สิทธิหยุดค่อนข้างมาก
ถ้าเกิดขึ้นเพียงเดือนเดียวก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยทุกเดือน กรณีนี้นายจ้างก็อาจพิจารณาเลิกจ้างได้เช่นกัน เพราะการหยุดบ่อย ในทางกฎหมายแรงงานถือเป็นการหย่อนสมรรภาพในการทำงาน ซึ่งต้องแยกกันระหว่าง "สิทธิที่จะลา" หรือ "สิทธิที่จะหยุด" กับเรื่อง "สิทธิที่จะเลิกจ้าง" ไม่ใช่ว่ากฎหมายรองรับสิทธิที่จะลา หรือสิทธิที่จะหยุดแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างได้อย่างไร ในทางกฎหมายแรงงานไม่ได้คิดแบบนั้น เช่น ลูกจ้างจะมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงก็ตาม หากลาป่วยบ่อยลูกจ้างก็ถูกเลิกจ้างได้ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เป็นต้น

 

 

ที่มา กฎหมายแรงงาน