เปิดร้านขายของชำอย่างไรดี? ในยุคที่ร้านสะดวกซื้อเต็มเมือง

     ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะพบกับร้านสะดวกซื้ออยู่แทบทุกหัวมุม ทุกตรอกซอกซอยมีทั่ว แล้วผู้ประกอบการหรือผู้เริ่มต้นธุรกิจโชว์ห่วย จะทำอย่างไรให้อยู่รอดกับสถานการณ์เช่นนี้

     ก่อนอื่นทำความเข้าใจสำหรับผู้ที่กำลังอยากจะลงทุนเปิดร้านโชว์ห่วยขนาดเล็กใช้งบประมาณเท่าไหร่?

     งบในการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท แบ่งเป็น

  • ตู้แช่ 1 ตู้ ราคาประมาณ 15,000 – 20,000 บาท หรือสามารถเช่าตู้รายเดือน
  • ชั้นวางของราคาประมาณ 5,000 บาท
  • สินค้าหมุนเวียนภายในร้าน
  • ประมาณ 50,000 – 70,000 บาท ซึ่งไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่หรืออุปกรณ์เปิดร้านขายของชํา ค่าตกแต่งร้านเพิ่มเติมอื่นๆ

     เปิดร้านขายของชําต้องจดทะเบียนอะไรบ้าง ทำอย่างไร?

  • การจดทะเบียนพาณิชย์ปัจจุบัน ทำได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ (อบต. หรือเทศบาล) ที่สถานที่ประกอบการของคุณตั้งอยู่
  • การจดทะเบียนพาณิชย์ ทำครั้งเดียวใช้ได้ตลอด ค่าธรรมเนียม 50 บาท
  • ยกเว้นว่าคุณจะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการ ค่าธรรมเนียม 20 บาท
  • ขอใบแทนในกรณีที่ใบทะเบียนพาณิชย์ของคุณสูญหาย ค่าธรรมเนียม 30 บาท
  • กรณีที่คนอื่นเป็นเจ้าบ้าน เช่น พ่อมแ่ ต้องเตรียมหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ไปด้วย เอกสารที่ต้องเตรียมไป คือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ทั้งของคุณและเจ้าของบ้าน

     เทคนิคเพิ่มมูลค่าร้านโชว์ห่วยยุคใหม่

แม้ร้านโชว์ห่วยในต่างจังหวัดยังคงได้รับความนิยมเนื่องจากร้านสะดวกนั้นยังอยู่ตามจุดสำคัญๆต่างๆ เช่น ในปั้มหรือในตัวเมือง ทางเลือกของผู้บริโภคจึงตกมาอยู่ที่ร้านโชว์ห่วย แต่ในอนาคตเมื่อร้านสะดวกซื้อรุกคืบเข้ามายึดพื้นที่ในต่างจังหวัด ร้านโชว์ห่วยเองอาจต้องรีบปรับตัวเพื่อยึดครองพื้นที่และสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

  • จัดทำระบบบัญชี

ร้านโชว์ห่วยยุคเก่าไม่สนใจเรื่องการทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย หรือต้นทุน – กำไร เลยทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้และไม่สามารถวัดผลกำไรจากการประกอบการได้อย่างชัดเจน การทำบัญชีจะช่วยในเรื่องการควบคุมระบบการซื้อขายและสต็อกสินค้า

  • จัดทำระบบสต็อกสินค้า

การทำระบบสต้อกสินค้าจะใช้ให้ควบคุมการซื้อขายสินค้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ การลงทุนในแต่ละครั้งเงินจะได้ไม่จมจากการสต็อกของมากจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยในการเก็บสถิติว่าสินค้าตัวไหนขายดี สินค้าตัวไหนใกล้หมด สินค้าตัวไหนใกล้หมดอายุ

  • จัดสินค้าตามหมวด / ประเภท

ตามปกติแล้วร้านค้าทั่วไปหรือร้านโชว์ห่วยจะวางสินค้าไม่เป็นระเบียบ อยากวางตรงไหนก็วางๆไป รอลูกค้าถามถึงไปหาให้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “โชว์ห่วย” ในอดีตนั่นเอง แต่ร้านโชว์ห่วยยุคใหม่จะต้องจัดวางสินค้าตามหวดหมูหรือแยกประเภทให้ชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการหาสินค้าของลูกค้า เมื่อเข้าร้านมาจะได้ไม่ต้องคอยถามหาสินค้ากับเจ้าของร้านอยู่ตลอดเวลา โดยปกติแล้วร้านโชว์ห่วยจะแบ่งสินค้าออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนั้น

     - สินค้าอุปโภค : ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน สินค้าความงามและของใช้ส่วนตัว เช่น แชมพู โลชั่น สบู่ ผงซักฟอก ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ

     - สินค้าบริโภค : เครื่องดื่ม ขนม อาหารทานเล่น เครื่องปรุง เป็นต้น

     - สินค้าเบ็ดเตล็ด : เครื่องเขียน ของใช้ภายในบ้าน เป็นต้น

  • ติดป้ายราคาให้ชัดเจน

ติดป้ายราคาสินค้าให้ถูกต้องและชัดเจน ลูกค้าไม่ต้องคอยถามราคาง่ายต่อการซื้อขาย วิธีการผู้ประกอบการสามารถทำป้ายราคามาวางให้ตรงกับสินค้า หรือใช้วิธีการติดราคาที่สินค้าก็ได้เช่นกัน หากจะใช้วิธีประหยัดก็ใช้ปากเมจิกเขียนราคาเอาก็ได้แต่วิธีนี้อาจจะดูไม่สวยงามและระวังในการใช้งานปากกาเมจิก ใช้กับสินค้าที่เป็นของใช้หรือมีหีบห่อหนาแน่น เพื่อป้องกันสารเคมีจากปากกาซึมลงไปปนเปื้อนนั่นเอง

  • เลือกสินค้าให้ตรงกลุ่ม

สำรวจพื้นที่ในละแวกร้านขายของว่าที่ตั้งของเรานั้นเป็นแบบไหน อยู่ในย่านชุมชนหรือห้องพัก อพาร์ทเม้นต์ เป็นต้น เพื่อที่จะได้เลือกสินค้ามาขายได้ครอบคลุมและตอบโจทย์ ยกตัวอย่างเช่น หากร้านค้าตั้งอยู่ทำเลใกล้โรงเรียน หอพัก สินค้าจำพวกเครื่องเขียนก็ควรที่จะมีขายในร้านด้วย เป็นต้น

  • จัดหน้าร้านให้เรียบร้อย

อาจไม่จำต้องต้องหรูหราอลังการมากมายนักสำหรับร้านโชว์ห่วย เพียงแค่คุณจัดหน้าร้านในมีระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน วางสินค้าเป็นที่เป็นทาง มองเข้าไปแล้วรู้สึกไม่อึดอัด สามารถเดินเลือกสินค้าได้โดยที่ไม่ต้องกังวนว่าจะเดินไปชนสินค้าชิ้นไหนหรือเดินชนกันเองระหว่างลูกค้ากับคนขาย

  • ใช้พื้นที่หน้าร้านให้เป็นประโยชน์

เปิดพื้นที่หน้าร้านให้สามารถเสริมบริการอื่นๆได้ เช่น ตู้กดน้ำหยอดเหรียญ ตู้เติมเงินออนไลน์ เครื่องชั่งน้ำหนักหยอดเหรียญ หรือจะเปิดพื้นที่ให้เช่าสำหรับผู้สนใจอื่นๆมาวางเครื่องดังกล่าว หรือเปิดร้านกาแฟคีออสเล็กๆก็ได้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มไลน์ธุรกิจแล้ว ยังเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ สร้างการปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับคนในชุมชน คนที่แวะมานั่งดื่มกาแฟ ก็จะได้แวะเข้ามาเดินเลือกซื้อสินค้า เพิ่มโอกาสในการขาย

     เทคนิคการขายของร้านโชว์ห่วย

  • จัดสินค้าที่ใกล้หมดอายุในอีกไม่กี่เดือนไว้ด้านหน้าสุด

เพื่อจะได้ระบายสินค้า กระบวนการนี้สัมพันธ์กับการเช็คสต็อกอยู่แล้วดังนั้นทุกครั้งที่เช็คสต็อกสินค้าก็ให้ดูสินค้าใกล้หมดอายุด้วย และจัดวางสินค้าเหล่านั้นไว้ด้านสุดในกลุ่มสินค้าเดียวกันบนชั้นวางของ ส่วนสินค้าที่ใกล้หมดอายุในอีก 2 – 3 วันให้นำมาลดราคาแทน

  •  ลดราคาสินค้าใกล้หมดอายุ 50%

หากเราไปตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆเราจะพบว่ามีการลดราคาสินค้าใกล้หมดอายุมากกว่าครึ่ง วิธีนี้จะทำให้ไม่ต้องทิ้งสินค้าไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างน้อยยอดลดราคายังดีกว่าการขาดทุน 100%

  • จัดโปรโมชั่นบ้าง

ร้านโชว์ห่วยก็สามารถจัดโปรโมชั่นได้ โดยอาจจะลดราคาเมื่อซื้อสินค้าเป็นคู่ เช่น แชมพู+ครีมนวดผม ผงซักฟอก+น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น ยอดลดราคานิดหน่อยแต่ได้ขายสินค้าถึง 2 ชิ้น นับว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ ลูกค้าได้ส่วนลดในขณะที่ร้านค้าได้ขายสินค้าเพิ่มขึ้น

  •  สับเปลี่ยนตำแหน่งวางสินค้า

แต่ไม่ใช่การสับเปลี่ยนแบบผสมปนเปกันมั่วไปหมด คือให้สับเปลี่ยนทำตำแหน่งทั้งประเภทสินค้า วิธีนี้จะทำให้ลูกค้าใช้เวลาในการหาสินค้านิดหน่อย แต่ทำให้พวกเขาได้เห็นสินค้าประเภทอื่นๆที่มีขายในร้าน จากที่เขาจะซื้อ 1 ชิ้นก็กลายเป็น 2 หรือ 3 ชิ้นแทนก็ได้

  • ไม่จำเป็นต้องเดินตามลูกค้าต้อยๆ

เหมือนคอยจับผิดตลอดเวลา แค่หามุมสำหรับวางโต๊ะที่สามารถมองเห็นได้ครอบคลุมและติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้สัก 1 ถึง 2 ตัวก็เพียงพอแล้ว ยิ่งปัจจุบันกล้องวงจรปิดมีราคาถูกและติดตั้งได้ง่ายอีกด้วย นอกจากคุณจะปลอดภัยแล้วลูกค้าเองก็ไม่ต้องรู้สึกอัดหากมีคนคอยเดินตามตลอดเวลา

  • ยิ้มแย้มแจ่มใส

พูดจาไพเราะ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยแต่ความสุภาพและมิตรไมตรีคือเครื่องยึดเหนี่ยวมัดใจคนไทยไว้ได้เสมอๆ

  • ดูแลความสะอาด

ปัดฝุ่น เช็ดถู อยู่เสมอๆทั้งสินค้าและร้านค้า ป้องกันสิ่งสกปรกและพวกแมลงต่างๆที่จะมากัดแทะทำลายข้าวของ

  • เพิ่มช่องทางการชำระสินค้า

​​​​​​​ร้านขายของชำยุคนี้สามารถให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแสกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) หรือโอนเงินเข้าบัญชี เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ลืมกระเป๋าสตางค์ เพียงแค่มีมือถือเครื่องเดียวก็ใช้จ่ายได้สบายๆ

  • เพิ่มช่องทางติดต่อ

​​​​​​​สร้าง Facebook Fanpage เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อ อัพเดทสินค้ามาใหม่ แจ้งข่าววันหยุดปิดร้าน เป็นต้น สมัยนี้ใครๆก็สามารถใช้งานผ่านมือได้แทบทุกเจนฯ ดังนั้นการมีช่องทางออนไลน์ก็ช่วยเพิ่มการรับรู้และขยายฐานลูกค้าในวงกว้างได้อีกด้วย

     การทำธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ หากให้ความสนใจและโพกัสได้ถูกจุด ธุรกิจนั้นๆก็จะขับเคลื่อนและค่อยๆเติบโตไปได้อย่างมีศักยภาพ

ที่มา www.smeleader.com