การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน โดยอ้างว่า ลูกจ้างทำงานไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถือว่า ลูกจ้างได้กระทำความผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น บรรดาผลประโยชน์พื้นฐานตามกฎหมายลูกจ้างจะต้องได้รับ ได้แก่
- ค่าชดเชย ก็ขึ้นอยู่ว่า ลูกจ้างทำงานมานานเท่าใดซึ่งการคิดคำนวณค่าชดเชยจะต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน
- สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หากให้ลูกจ้างหยุดทำงานทันที ก็สามารถจ่ายเป็นค่าจ้างให้แทนได้
- ค่าชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปี
- เงินประกันการทำงาน (ถ้ามี)
- กองทุนเงินสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
- เงินอื่นๆ จะต้องพิจารณาตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกาศ ระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวข้อง
เหตุอันสมควรที่นายจ้างมักจะใช้เป็นข้ออ้างประกอบการเลิกจ้าง ก็คือ
- ลูกจ้างทำงานไม่ได้มาตรฐานเมื่อเทียบกับลูกจ้างในตำแหน่งเดียวกัน
- ลูกจ้างทำงานขัดนโยบายของนายจ้าง
- ลูกจ้างไม่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่นายจ้าง ขาดความทุ่มเทในการทำงาน
- ไม่เข้าร่วมประชุมระดับผู้บริหาร
- การพัฒนาสินค้า และบริการล้มเหลว
- ไม่ปฏิบัตินามคำสั่ง หรือคำแนะนำของผู้บริหารระดับสูง
- ทำยอดขายได้ไม่ถึงเป้าหมาย
- ขาดความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน
- อื่นๆ
หากไม่ปรากฏเงื่อนไขในสัญญาจ้างแรงงานแล้ว เหตุผลสำคัญที่จะใช้ในการตัดสินว่า ลูกจ้างทำงานได้มาตรฐานหรือไม่นั้น ในท้ายที่สุดก็จะพิจารณาจากการประเมินผลการทำงานประจำปีของลูกจ้างซึ่งนายจ้างเป็นผู้ประเมินเอง โดยการพิจารณานั้นจะต้องพิจารณาติดต่อกันหลายปีว่า ลูกจ้างทำงานอยู่ในมาตรฐานของตัวเองหรือไม่ หากลูกจ้างเพียงทำงานถดถอยลงไปบ้าง แต่ยังถือว่า อยู่ใกล้เคียงกับมาตรฐานปกติของลูกจ้างเอง ไม่ถือว่า ลูกจ้างทำงานไม่ได้มาตรฐาน
ที่มา WORASET AND PARTNERS