ลาป่วยบ่อย โดนตัดเบี้ยขยัน ขัดกฎหมายแรงงานหรือไม่

          พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

  1. ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
  2. ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
  3. ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
  4. เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
  5. เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน หนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความ ยินยอมจากลูกจ้าง

 

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมา คือ เบี้ยขยันเป็นค่าจ้างหรือไม่??
          พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ค่าจ้าง”  หมายความว่า เงินที่นายจ้าง และลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำ งานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุด และวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้
          หากบริษัทจ่ายเบี้ยขยันในลักษณะที่มีเงื่อนไขเพื่อสร้างแรงจูงใจ โดยไม่ใช่เพื่อตอบแทนการทำงาน เช่น พนักงานที่ไม่มาสาย ไม่ขาดงาน ไม่ลา มีสิทธิได้รับเบี้ยขยัน ซึ่งมีตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ตัดสินว่า เบี้ยขยันไม่ใช่ค่าจ้าง
          ฎีกาที่ 9313-9976/2547 เบี้ยขยัน เป็นเงินที่นายจ้างนำมาจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยขยันต้องเป็นผู้ไม่ขาดงาน ไม่ลางาน ไม่มาทำงานสาย นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างต่างหากจากค่าจ้างปกติเป็นเงินตอบแทนความขยัน ไม่ใช่ตอบแทนการทำงานโดยตรง มิใช่ค่าจ้าง

          ดังนั้น หากลูกจ้างลาป่วย ก็ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับเบี้ยขยัน นายจ้างจึงตัดเบี้ยขยันออก ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเพื่อความชัดเจน​ ต้องพิจารณาจากเงื่อนไขของเบี้ยขยันของแต่ละบริษัท เพราะแต่ละที่อาจกำหนดแตกต่างกันไป

 

ที่มา คลินิกกฎหมายแรงงาน