ข้อดี & ข้อเสียของ Cloud computing

ข้อดีที่ควรรู้

  1. หากดูในภาพรวมข้อดีของระบบ Cloud นั้นมีมากมาย ตั้งแต่ความเป็นสากล สะดวกสบาย สามารถปรับเพิ่มหรือลดการใช้งานตามความต้องการ และเข้าถึงระบบได้ง่าย ทั้งหมดนี้จะช่วยให้กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันทำได้เร็ว เปิดช่องให้ธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อสร้างข้อได้เปรียบให้บริษัทได้ เช่น Microservices, Machine Learning - ML, Internet of Things - IoT และ Data Analytics เป็นต้น
  2. การจัดเก็บข้อมูลแบบไม่จำกัด : ในการเลือกใช้ระบบ Cloud คุณแค่เลือกซื้อแพ็กแกจความจุตามความต้องการใช้งาน แล้วชำระค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าที่เคยจ่ายให้กับฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้เก็บข้อมูลในอดีตอย่างแน่นอน แต่ก็มีสิ่งที่ผู้ใช้บริการควรพิจารณาให้ดี นั่นคือ เงื่อนไขการใช้งานและฟีเจอร์ต่าง ๆ ของผู้ให้บริการ Cloud แต่ละราย
  3. การสำรองและกู้ข้อมูลได้อัตโนมัติ : การเก็บไฟล์หรือข้อมูลบน Cloud จะมีระบบสำรองหรือกู้ข้อมูลอัตโนมัติ ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดปัญหาระบบล่ม กระแสไฟฟ้าขัดข้องหรือภัยธรรมชาติ ผู้ใช้บริการสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลหรือไฟล์ที่จัดเก็บบนระบบ Cloud ยังคงปลอดภัยภายใต้มาตราฐานของ Cloud-service ทั่วไปที่ให้บริการแบบ 24/7
  4. การลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ : หน้าที่การบริหารจัดการฐานข้อมูลและไฟล์ต่าง ๆ จะตกเป็นของผู้ให้บริการ Cloud ผู้ใช้บริการมีหน้าที่เพียงคัดเลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ ระบุความต้องการใช้งานและชำระค่าธรรมเนียมเท่านั้น
  5. การเพิ่มสมรรถภาพการทำงานร่วมกันและความคล่องตัว : ผู้ใช้งานสามารถเพิ่ม-ลดขนาด Server ตามความต้องการใช้งานได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงแอปพลิเคชัน ข้อมูล และไฟล์ต่าง ๆ จากมุมไหนก็ได้บนโลกนี้ ขอแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เสถียรพอ

ข้อด้อยที่ต้องพิจารณา

แม้ว่าการใช้บริการ Cloud จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหลายด้าน แต่การปรับเปลี่ยนระบบการจัดเก็บและรูปแบบการเรียกใช้งานฐานข้อมูล ทำให้ฝ่ายไอทีของบริษัทต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมรับมือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น เพราะการฝากข้อมูลหรือไฟล์สำคัญของบริษัทไว้กับบุคคลที่ 3 ถือเป็นความเสี่ยง ด้วยเหตุนี้การพิจารณาเลือกใช้งาน Cloud ต้องทำอย่างถี่ถ้วน

  • การใช้งานขึ้นอยู่กับสัญญาณอินเทอร์เน็ต: แม้ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ปัญหาการจ่ายค่าบริการ สายสื่อสารขาดและการถูกแฮกระบบ อาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ใช่ว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ดังนั้นผู้ใช้บริการควรมีแผนสำรองข้อมูลบนอุปกรณ์เก็บข้อมูลส่วนตัวในกรณีที่สัญญาณเชื่อมต่อมีปัญหาหรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตล่ม
  • การจัดเก็บง่ายแต่นำออกไปใช้ยาก: ผู้ใช้บริการต้องมั่นใจว่าเข้าใจสิทธิ์และเกณฑ์การเข้าถึงข้อมูลของผู้ให้บริการ Cloud แต่ละรายเป็นอย่างดี เพราะ Virtural Private Cloud - VPC นั้นมีการกำหนดสิทธิ์และข้อจำกัดการเข้าถึงและนำข้อมูลออกไปใช้มากมาย หากเกิดความผิดพลาดอาจทำให้เสียเวลาและโอกาสทางธุรกิจได้
  • การบริหารจัดการของระบบ Cloud ยากที่จะตรวจสอบ: ความกังวลด้านจริยธรรมของผู้ให้บริการ Cloud กำลังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ความพร้อมใช้งาน การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้บริการ เพราะกฎหมายที่ใช้รองรับและขอบเขตอำนาจของศาลในบางประเทศยังไม่ชัดเจนและหลายประเทศยังไม่มี
  • การเกิดช่องโหว่ของเทคโนโลยีได้ง่าย: การใช้งานระบบ Cloud เป็นการแชร์ทรัพยากรและข้อมูลของบริษัทให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์เข้าถึงใช้งานร่วมกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาและช่องโหว่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้ง่ายมาก ยกตัวอย่างเช่น การลักลอบนำข้อมูลส่วนตัวพนักงานไปใช้ในทางที่ผิด การเข้าถึงข้อมูลบางประเภทโดยไม่ได้รับอนุญาต และการเชื่อมต่อ Application Programming Interfaces - APIs ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น
  • ความเสี่ยงจากข้อมูลสูญหายหรือถูกโจรกรรม: การเก็บข้อมูลหรือไฟล์ที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของบริษัทไว้กับบุคคลที่ 3 เป็นความเสี่ยงที่ต้องพร้อมรับมือ เพราะข้อมูลอาจสูญหายเนื่องจากระบบมีปัญหา หรือการถูกโจรกรรมข้อมูลซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอบนโลกไซเบอร์ เพราะทุกวันนี้แฮกเกอร์พัฒนาตัวเองไวไม่แพ้เทคโนโลยี และยิ่งระบบ Cloud ได้รับความนิยมในภาคธุรกิจฉันใด ในหมู่แฮกเกอร์ก็เช่นกัน
  • ความเสี่ยงจากการถูกโจมตีแบบ Denial-of-Service - DoS: DoS เป็นการโจมตีที่พุ่งเป้าให้ระบบไม่สามารถให้บริการได้ ด้วยการโจมตีแบบโครงข่าย (Network Base Attack) หรือการโจมตีด้วยขนาด (Volumetric Base Attack) ผ่านการส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลไปยังเป้าหมายจนทำให้เกิดปัญหาคอขวด (Congestion) ทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารกับผู้ใช้งานทั่วไป ส่งผลให้บริการต้องหยุดชงัก ซึ่ง DoS เป็นรูปแบบการโจมตีที่แฮกเกอร์ส่วนใหญ่ให้ความนิยมเพราะป้องกันยาก นั่นหมายความว่าผู้ให้บริการ Cloud ส่วนใหญ่ไม่สามารถปกป้องข้อมูลสำคัญของบริษัทได้หากเจอการโจมตีรูปแบบนี้

แม้จะมีความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยบนระบบ Cloud แต่ก็มีธุรกิจมากมายที่พร้อมรับความเสี่ยง เพราะบางช่วงเวลาของการทำธุรกิจ การประหยัดต้นทุน การเข้าถึงระบบการใช้งานที่สะดวก และความคล่องตัวทางธุรกิจนั้นมีน้ำหนักมากกว่าความปลอดภัย

 

ที่มา www.scb.co.th 

และข้อมูลอ้างอิงจาก
http://bit.ly/3fYmqD0
http://bit.ly/3AdCTtL