กรณีเงินที่ได้รับการชดเชยจากการยกเลิก Order ของลูกค้าถือเป็นเงินรายได้อื่น ต้องนำมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ?

เนื่องจากกิจการได้จดธุรกิจส่งออก แล้วได้รับเงินมัดจำ (โอนเข้าบัญชีกิจการ) มาแล้ว ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565 โดยไม่ได้ทำสัญญาระหว่างกันไว้ ซึ่งทางกิจการ ได้ดำเนินการซื้อวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการทำของสินค้าดังกล่าวมาแล้ว และนำมาเป็นภาษีซื้อ ซึ่งได้นำมาใช้ในเดือนภาษี .. ต่อมา วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ทางต่างประเทศ ได้แจ้งมาขอยกเลิก ออร์เดอร์ ที่สั่งไว้ และจะยอมจ่ายเงินชดเชยค่าวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นเงินกึ่งนึง (จากเงินที่วางมัดจำไว้) อีกกึ่งนึงทางกิจการได้ คือ ให้กับคู่ค้าต่างประเทศ..ในกรณีนี้เงินที่ได้รับการชดเชยมาถือเป็นเงินรายได้อื่น ต้องนำมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เนื่องจากทางกิจการ ได้นำภาษีซื้อมาใช้แล้ว


อาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
ตามมาตรา 77/1 (และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร 
    “มาตรา 77/1 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น 
         ( 8 ) “ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง
              (ก) สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อแล้ว หรือสัญญาจะขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
              (ข) ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย
              (ค) ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
              (ง) นำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ เว้นแต่การนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเอง โดยตรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1))
             (จ) มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง
             (ฉ) มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการ มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากัน หรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากัน หรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
             (ช) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (กฎกระทรวง ฉบับที่ 188 (พ.ศ. 2534))
         (9) “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด  
         (10) “บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง 
              (ก) การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้ เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2))
              (ข) การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์
              (ค) การกระทำตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี” 
    “มาตรา 77/2 การกระทำกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามบทบัญญัติในหมวดนี้ 
         (1) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ 
         (2) การนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้า 
         การให้บริการในราชอาณาจักร ให้หมายถึง บริการที่ทำในราชอาณาจักร โดยไม่คำนึงว่าการใช้บริการนั้นจะอยู่ในต่างประเทศหรือในราชอาณาจักร
การให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร” 
ต่อข้อถามขอเรียนว่า 
กรณีกิจการ ได้รับเงินชดเชย เนื่องจากลูกค้าผิดสัญญา โดยกิจการ ได้นำมารับรู้เป็นเงินรายได้อื่นแล้วนั้น กิจการ ไม่มีหน้าที่ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเงินชดเขยค่าความเสียหายไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope) แม้ว่ากิจการ จะได้นำภาษีซื้อมาใช้แล้ว ก็ตาม เพราะเป็นคนละประเด็นกัน การซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตย่อมใช้ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการได้

ที่มา : Facebook อาจารย์ สุเทพ พงษ์พิทักษ์