Micromanagement การบริหารงานแบบก้าวก่าย ที่ผู้บริหารควรระวัง !!!

Micromanagement คือ การบริหารจัดการธุรกิจที่มุ่งเน้นการควบคุมมากเกินไป และใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับงานของลูกน้องมากกว่าการมองภาพใหญ่ของธุรกิจ 

          การกระทำของ Micro Management จริง ๆ แล้วก็แฝงไปด้วยความหวังดีในการทำงาน เพราะเป็นกังวลว่าทีมงานจะทำงานได้ไม่ดี หรือไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ถ้ามองในทางเลวร้ายก็จะเป็นการมองว่าคนที่เป็น Micro Management นั้นคือคนที่ต้องการจุดยืนว่า ถ้าไม่มีคนแบบตัวเองในโครงการนั้น ทีมงานนั้นจะทำงานไม่ได้หรืองานนั้นจะล้มเหลวได้ เป็นสิ่งที่ทำลายขวัญกำลังใจของทีมงานในการทำงานลง 

 

สัญญาณของ Micro Management คือ

  1. การขอมีส่วนร่วมในทุก ๆ งาน หรือต้องการเห็นงานทุก ๆ การกระทำ
  2. ล้มเหลวในการมอบหมายงาน เอาตัวเองเข้าไปตัดสินใจในโปรเจคของคนอื่น
  3. ไม่ค่อยพอใจกับผลงานของลูกน้อง เริ่มวิจารณ์หรือปรับแก้ในรายละเอียดทุก ๆ จุด แทนที่จะมองภาพรวม นอกจากนี้ยังให้ทีมงานแก้งาน ทั้ง ๆ ที่จะถึงเวลาทำงานแล้ว เมื่อเจอจุดผิดพลาดเล็ก ๆ น้อยที่ไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงาน ชอบให้ลูกน้องทำงานตามคำสั่งทุกขั้นตอน
  4. เป็นคนที่ลดทอนกำลังใจทีมงานด้วยการตัดสินใจโดยไม่ได้ปรึกษาทีมงานเลย

 

         การเป็น Micro Management นอกจากจะทำร้ายทีมงานของตัวเอง ยังทำให้คุณเสียเวลาในการทำงานที่จะเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นไป เพราะต้องเอาเวลามาใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้มากมาย Productivity หรือผลิตภาพ และอัตราการเติบโตของธุรกิจลดลง  ปิดกั้นโอกาสในการริเริ่มนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ พนักงานไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน สูญเสียความมั่นใจ ขาดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดอันเนื่องมาจากการถูกตำหนิหรือต้องคอยรองรับอารมณ์ของผู้จัดการ

 

5 วิธีที่จะช่วยสามารถจัดการธุรกิจออกจาก Micromanagement ได้

1. จ้างงานเฉพาะคนที่ใช่

ควรใช้เวลากับกระบวนการสรรหาและตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้สมัครคนใดที่มีความเหมาะสมทั้งในแง่คุณสมบัติและความเข้าใจเกี่ยวกับงานตรงตามที่บริษัทกำลังมองหาอยู่มากที่สุด เพราะจ้างงานเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีขึ้น พนักงานที่มีความรับผิดชอบสูงจะทำให้คุณสามารถมองข้ามการจัดการแบบ Micromanagement และยอมมอบความไว้วางใจให้ทำงานต่างๆ แทนมากขึ้นเรื่อยๆ

2. บอกความคาดหวัง ไม่ใช่งาน

ก่อนจะเริ่มต้นทำโครงการ บอกเป้าหมายและความคาดหวังที่ชัดเจนแทนการอธิบายแบบลงรายละเอียดเกี่ยวกับงานแต่ละอย่างว่าใครต้องทำอะไรและต้องทำอย่างไร จากนั้น ให้พนักงานเป็นคนรับผิดชอบการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้นเอง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดแรงกดดันให้พนักงานไม่รู้สึกว่าถูกควบคุมตลอดเวลา และเปลี่ยนบทบาทของคุณให้กลายเป็นผู้นำที่คอยสนับสนุนเมื่อลูกน้องต้องการ

3. มอบหมายความไว้วางใจทีละเล็กทีละน้อย

ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงด้วยการมอบความรับผิดชอบทั้งหมดให้ผู้อื่นทันที หรือละทิ้งการบริหารจัดการทุกอย่างไปแบบปัจจุบันทันด่วน แต่สามารถเริ่มต้นด้วยการมอบหมายงานให้กับพนักงานที่เหมาะสมทีละเล็กทีละน้อยเพื่อถอยบทบาทออกมาอย่างช้าๆ 

4. ส่งเสริมวัฒนธรรมการสื่อสารที่เปิดกว้าง

ถ้าต้องการให้บริษัทของคุณมีวัฒนธรรมการทำงานและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันความคิดเห็น กล้าที่จะบอกปัญหาและข้อเสนอแนะในการทำงานกับคุณได้อย่างสนิทใจ

5. ให้พนักงานมีส่วนร่วมหรือมีความเป็นเจ้าของ

ลองเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ จะทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ไม่ใช่แค่คนที่รับจ้างทำงานให้เพียงอย่างเดียว จึงช่วยกระตุ้นให้พวกเขาอยากทำงานหนักขึ้น รวมทั้งตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบและชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสร้างผลกำไรที่มากขึ้นให้กับบริษัท

 

ที่มา blog.pttexpresso