ค่าใช้จ่าย/รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี

แรงจูงใจหลักในการที่จะทำให้บริษัทหนึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็คงจะหนีไม่พ้นสิทธิที่บริษัทเสียภาษีบนฐานของผลกำไรของบริษัท กล่าวคือบริษัทสามารถหักรายจ่ายต่างๆออกจากรายได้ได้ตามจริง และเงินได้ของบริษัทที่จะเสียภาษีก็จะเป็นแค่ส่วนของผลกำไรของบริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ต้องเสียจากรายได้หรือเหมารายจ่ายได้สูงสุดเพียง 60% เช่นที่ต้องเสียในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีข้อดีแบบนี้อยู่ แต่ในระบบภาษีของเราก็มีสิ่งที่เรียกว่ารายจ่ายต้องห้ามทางภาษีอยู่ กล่าวคือ มีรายจ่ายจำนวนหนึ่งในบัญชีบริษัททั่วไปที่ต้องนับเป็นรายจ่าย เพราะเป็นการเสียเงินของบริษัท แต่รายจ่ายเหล่านนั้น ห้ามนำไปคิดคำนวณเป็นรายจ่ายตอนเสียภาษีเด็ดขาด เพราะผิดกฎหมาย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น มีหลักๆ ดังนี้

1. รายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหารที่อยู่นอกระเบียบบริษัท

รายจ่ายแบบแรกที่ห้ามนำไปหักภาษีเด็ดขาดคือรายจ่ายของผู้บริหารบริษัทที่อยู่นอกระเบียบบริษัท เช่น ค่าน้ำมัน เงินช่วยเหลืองานบุญ งานบวช หรือกระทั่งงานศพของพนักงาน เป็นต้น รายจ่ายแบบนี้ ถ้าไม่มีกำหนดในระเบียบชัดเจน ห้ามนำมาหักภาษีเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจและเป็นรายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหารบริษัทเอง ไม่ใช่ของบริษัท

ดังนั้นในทางที่ดีถ้าบริษัทมองว่ารายจ่ายเหล่านี้ยังไงก็ต้องเกิดขึ้นและจะใช้เงินบริษัทมาจ่าย ก็ควรจะทำการระบุไว้ในระเบียบของบริษัทให้ชัด เช่น ระบุว่าผู้บริหารจะมีค่าน้ำมันเดือนละเท่าไร หรือถ้าพนักงานไปบวชหรือเสียชีวิต บริษัทจะให้เงินช่วยเหล่าเท่าไรในฐานะของสวัสดิการพนักงาน เป็นต้น

2. รายจ่ายเพื่อรับรองลูกค้าที่เกินโควต้า

รายจ่ายแบบที่สองที่ห้ามนำไปหักภาษี คือค่ารับรองลูกค้าที่เกินโควต้า คนทำธุรกิจโดยทั่วไปก็น่าจะเข้าใจว่ากว่าจะปิดดีลกับลูกค้าได้ ก็ต้อง “เลี้ยง” ลูกค้าไปหลายรอบ อย่างไรก็ดีการเลี้ยงเหล่านี้ในทางกฎหมายมีโควต้าว่าต้องเลี้ยงไม่เกินหัวละ 2,000 บาทต่อครั้งเท่านั้น (นับหัวรวมพนักงานที่พาไปเลี้ยงด้วย) และรายจ่ายพวกนี้จะต้องไม่เกิน 0.3% ของรายได้บริษัทด้วย โดยเพดานของรายจ่ายตรงนี้สูงสุดอยู่ที่ 10 ล้านบาท นหมายความว่าไม่ว่าบริษัทจะต้องเลี้ยงลูกค้าแค่ไหนกว่าจะปิดดีลได้ แต่รายจ่ายตรงนั้นจะไม่สามารถเอามาหักออกจากรายได้ตอนเสียภาษีถ้าเกินเพดานที่ว่าไป

3. รายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ

รายจ่ายแบบที่สามที่ต้องห้ามเลยในการเอามาหักภาษี คือรายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ พูดง่ายๆ ก็คือ รายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนไปว่าจ่ายไปที่ใคร อันนี้อาจพบได้มากในบริษัทขนาดเล็ก เพราะบริษัทต้องตั้งงบเบ็ดเตล็ดไว้จัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอุปกรณ์สำนักงาน ล้างแอร์บริษัท หรือกระทั่งการจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปส่งเอกสาร ประเด็นคือ รายจ่ายเหล่านี้ หากจ่ายไปเป็นเงินสด และผู้รับไม่มีการออกใบเสร็จให้ มันก็จะไม่มีหลักฐานใดๆ ว่ารายจ่ายพวกนี้จ่ายไปที่ใคร และจะไม่สามารถนำมาหักภาษีได้

4. รายจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม

รายจ่ายแบบที่สี่ ที่บริษัทอาจนับเป็นรายจ่ายของบริษัท แต่สรรพากรไม่นับ คือรายจ่ายที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าจะอธิบายง่ายๆ คือการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการ มันจะมีเงินส่วนหนึ่งที่ต้องจ่ายไปเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือต้องเก็บไว้เพื่อนำจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกับสรรพากร เช่นบริษัทขายของได้ 100 บาท บริษัทก็ได้จริงๆ 93 บาท อีก 7 บาทต้องเก็บไว้นำจ่ายเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร ประเด็นคือ 7 บาทที่ว่านี้ ไม่สามารถเอามาคิดเป็น “รายจ่าย” ของบริษัทตอนเสียภาษีเงินได้

5. รายจ่ายให้กับบริษัทแม่หรือบริษัทลูก

รายจ่ายแบบที่ห้าที่ห้ามนำไปหักเวลาคำนวณภาษี คือ รายจ่ายให้กับบริษัทแม่หรือบริษัทลูก บริษัทจำนวนมากมีการซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทในเครือข่ายที่เป็นบริษัทแม่หรือบริษัทลูก ซึ่งในทางบัญชีปกติ บริษัทก็จะลงเป็นค่าใช้จ่ายกัน แต่ในทางภาษี ตามกฎหมายไทย บริษัทไม่ว่าจะแม่หรือลูกถือเป็นบริษัทเดียวกันในทางภาษี ดังนั้นการซื้อสินค้าและบริการกันเอง จึงเป็นเรื่องของการไหลเวียนของเงินในบริษัท ซึ่งนับเป็นรายจ่ายทางภาษีไม่ได้

6. รายจ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง

รายจ่ายแบบที่หกที่ห้ามนำมาหักตอนเสียภาษาโดยเด็ดขาดก็คือ รายจ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง บริษัทจำนวนมากมีทรัพย์สินในรูปของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในทางบัญชีทั่วๆ ไปก็จะต้องมีการประเมินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ตลอด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าของสินทรัพย์ของบริษัทซึ่งมากขึ้นหรือลดลง ซึ่งกรณีที่มันลดลง ในทางบัญชีปกติก็อาจถือเป็นรายจ่ายในงบการเงินได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์บริษัทลดลง แต่ในทางภาษี เนื่องจากยังไม่มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้น และการประเมินมูลค่าก็ไม่มีหลักทางภาษีที่แน่นอนตายตัวในรายละเอียด ทางสรรพากรจึงห้ามเอาการที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทถืออยู่ซึ่งลดลงไปมาคิดเป็นรายจ่ายเด็ดขาด

7. รายจ่ายทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป

รายจ่ายแบบที่เจ็ดที่ห้ามนำมาหักออกจากรายได้ในทางภาษีก็คือ รายจ่ายทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป อันนี้เป็นในกรณีที่บริษัทสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่ตัวเองถืออยู่ เช่น การขุดแร่หรือตัดไม้มาขาย แน่นอนว่าจากมุมของบริษัท เมื่อเอาทรัพยากรมาใช้แบบนี้ ทรัพยากรย่อมลดลง และในทางบัญชีโดยทั่วไปก็ถือเป็นรายจ่ายที่ต้องคำนวณกันไป แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ สิ่งเหล่านี้ ในทางภาษีไม่สามารถนำมานับเป็นรายจ่ายได้ ซึ่งเหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะมันไม่มีเกณฑ์ชัดเจนในการประเมินมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ไป และถ้าเปิดโอกาสให้เอาส่วนนี้มาเป็นรายจ่าย บริษัทก็มีแนวโน้มจะประเมินมูลค่าทรัพยากรที่เสียไปเกินจริง

8. รายจ่ายค่าปรับ

รายจ่ายแบบสุดท้ายที่ห้ามเอามาหักออกจากรายได้ตอนเสียภาษีแน่ๆ ที่เราจะพูดถึงในที่นี้คือรายจ่ายค่าปรับ ค่าปรับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอกับบริษัทไม่ว่าบริษัทจะทำผิดกฎหมายระดับเล็กน้อยหรือมาก และเมื่อต้องเสียค่าปรับ ก็แน่นอนว่ามันเป็นเงินของบริษัทที่ต้องจ่ายออกไป และในทางบัญชีทั่วไปก็ต้องคิดเป็นรายจ่าย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินบริษัทจะเสียไปตรงนี้จริง ในทางภาษีเราไม่สามารถเอาพวกค่าปรับต่างๆ มาคำนวณในส่วนของรายจ่ายได้ เพราะจากมุมของสรรพากร รายจ่ายตรงนี้ไม่ใช่รายจ่ายทางธุรกิจ แต่มันเกิดจากการที่ธุรกิจทำผิดกฎหมายและได้รับการลงโทษโดยรัฐ มันจึงเอามาคำนวณเป็น “รายจ่าย” ในทางภาษีของบริษัทไม่ได้

และหนึ่งในปัญหาที่ฮอตฮิตที่สุดของการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น คือ เรื่องของรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี ที่มีไม่กี่ข้อ แต่ทำให้เหนื่อยและปวดหัวใจเสียเหลือเกิน เนื่องจาก
1. เจ้าของธุรกิจไม่เข้าใจวิธีการคำนวณภาษี คิดว่ารายจ่ายเหล่านี้สามารถเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ 
2. การปฏิบัติในชีวิตจริงไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้พนักงานทุกคนจัดทำ เอกสารต่างๆหรือขอเอกสารการเบิกจ่ายที่มีหลักฐาน ไปจนถึงผู้รับเงินไม่สามารถออกหลักฐานการจ่ายได้
3. รายจ่ายบางรายการ ไม่สามารถเป็นรายจ่ายได้ด้วยข้อจำกัดของกฎหมาย นั่นคือ แม้ว่าจะมีการจ่ายจริง แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ผู้รับได้ หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ รายจ่ายนั้นเป็นรายจ่ายทีผิดกฎหมาย เลยไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้เช่นเดียวกัน 

เอาจริงๆ ปัญหาของเรื่องรายจ่ายตัวนี้ ไม่ได้มีแค่เพียงเท่านี้หรอกครับ แต่ยังมีอีกมากมายหลายปัญหา ซึ่งประเด็นที่จะมาพูดคุยและเล่าให้ฟังประจำเดือนนี้ คือ การจัดการปัญหาหลักๆ โดยการสร้างเอกสารหลักฐาน การใช้จ่ายที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถพิสูจน์หลักฐานหรือผู้จ่ายได้นั่นเอง แต่ก่อนที่จะอ่านเรื่องราวต่อจากนี้ ขอย้ำสักนิดว่า เรื่องทั้งหมดนี้เขียนจากประสบการณ์ในการทำงาน ผ่านมุมมองของผู้เขียนเป็นหลัก สำหรับคนที่อยากได้หลักฐานค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษี และไม่มีปัญหากับพี่สรรพากร คิดว่าเราควรปฎิบัติตามแนวทางต่อไปนี้
เริ่มต้นจาก เอกสารที่กรมสรรพากรออกโดยตรง นั่นคือ คู่มือการจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชี ที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร)  เพราะคู่มือนี้จะระบุไว้ชัดเจนว่า หลักฐานที่กรมสรรพากรให้ถือว่าเป็นรายจ่ายนั้น จะมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1. ใบรับ หรือ ใบเสร็จรับเงิน ที่ผู้รับเงินเป็นผู้ออกให้
เอกสารนี้ถือว่าเป็นเอกสารที่มีความน่าเชื่อถือที่สุด เพราะเป็นหลักฐานที่ได้รับจากบุคคลภายนอก ซึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องมีสำหรับหลักฐานใบรับ หรือ ใบเสร็จรับเงินที่ว่านี้ คือ ชื่อ และ ที่อยู่ของผู้ออกเอกสาร พร้อมรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้อง  
2. ใบสำคัญรับเงิน ที่มีหลักฐานลายเซ็นผู้รับเงิน โดยควรแนบสำเนาบัตรประชาชนที่ถูกต้องของผู้รับเงิน ตรงนี้เป็นเอกสารอีกฉบับที่กรมสรรพากรรองรับว่าเป็นหลักฐานค่าใช้จ่ายได้ โดยจัดทำขึ้นจากธุรกิจของเรา เพียงแต่ว่าต้องมีหลักฐานที่ระบุได้ชัดเจนว่าผู้รับเงินคือใคร (ลายเซ็นและบัตรประชาชน) และส่วนใหญ่มักจะใช้ในกรณีที่ผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดา
3. ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารภายในกิจการ จัดทำโดยพนักงานที่เอามาเบิกจ่ายและมีการอนุมัติโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง อันนี้ก็เป็นหลักฐานที่จัดทำขึ้นภายในเหมือนกัน แต่เบิกจ่ายเองโดยคนใน ไม่มีหลักฐานที่ได้รับจากบุคคลภายนอก ซึ่งตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็นเพิ่มขึ้นมา เพราะกรมสรรพากรเขียนระบุไว้ชัดในคู่มือเลยว่า ใช้ในกรณีกิจการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือบริการ "เบ็ดเตล็ด" ซึ่งแปลว่า “จำนวนน้อย” นั่นเอง

ที่มา www.sme.krungthai.com และ ธรรมนิติ

 

VDO ความรู้จากกรมสรรพากร