ทำความรู้จัก Barcode ที่ใช้ในธุรกิจค้าปลีก รหัสเดียวใช้ได้ทั่วโลก

เวลาที่เราไปซื้อสินค้าตามซุปเปอร์มาเก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ ตามผลิตภัณฑ์หรือชั้นวางต่างๆ เราจะเห็นว่ามีบาร์โค้ด ติดอยู่เกือบจะทุกผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็น ของกิน ของใช้ รวมไปถึงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ เพราะบาร์โค้ดเป็นสิ่งสำคัญในการขายของผ่านโมเดิร์นเทรด เพื่อยืนยันข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่างๆ วันนี้เรามาทำความรู้จักบาร์โค้ดให้มากขึ้นกัน และจะได้ทราบว่าบาร์โค้ดมีความสำคัญอย่างไรกับธุรกิจยุคใหม่

ความหมายบาร์โค้ดและมาตรฐานสากล GS1

บาร์โค้ด (Barcode) หมายถึง เครื่องหมายที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการระบุและตรวจสอบข้อมูลสินค้า ช่วยให้มีความอย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ โดยจะแสดงอยู่บนฉลากสินค้า รวมไปถึงบนแพ็คเกจบรรจุภัณฑ์ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน

ทั้งนี้ก่อนจะสร้างบาร์โค้ดสินค้า เจ้าของแบรนด์หรือผู้ประกอบการ ต้องขึ้นทะเบียนกับทางสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจาก GS1 องค์กรที่กำกับดูแลการออกเลขหมายบาร์โค้ดสากล เพื่อให้สินค้าที่ผลิตในแต่ละประเทศ มีเลขหมายของตนเอง ป้องกันการซ้ำ และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้งานครอบคลุมกว่า 150 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป และจีน

ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสถาบันรหัสสากล จะได้รับ “รหัสบาร์โค้ด” เฉพาะของตนเอง  ซึ่งรหัสบาร์โค้ดนี้จะนำไปใช้สร้างเลขหมายประจำตัวสินค้าได้ทั้ง 2 แบบ ขายปลีก (GTIN-13) / ขายส่ง (GTIN-14) 

ความแตกต่างของ บาร์โค้ดสินค้าขายปลีก VS ขายส่ง 

GTIN-13 เป็นเลขหมายประจำตัวสินค้า สำหรับสร้างบาร์โค้ดสินค้าขายปลีก กำหนดให้ 1 บาร์โค้ด แทน1 ผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วย 4 ส่วนคือ

ตัวอย่าง

  • A ตัวเลขหลัก 1-3 แสดงรหัสประเทศสมาชิก ประเทศไทยใช้รหัส 885
  • B ตัวเลขหลักที่ 4-8 เป็นรหัสประจำตัวบริษัท TNP Cosmeceutical 
  • C ตัวเลขหลักที่ 9-12 เป็นรหัสสินค้าค้าปลีก ผู้ใช้งานกำหนดตัวเลขแทนผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างตัวเลข 0001 ถึง 9999 
  • D ตัวเลขหลักที่ 13 เป็น หมายเลขตรวจสอบ (Check Digit) หมายถึงตัวเลขที่ได้จากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ใช้ตรวจสอบความถูกต้องของชุดข้อมูล ซึ่งมักผนวกไว้ที่ตำแหน่ง สุดท้ายของชุดตัวเลขนั้นๆ

ในกรณีที่ แบรนด์ของเรามีมากกว่า 1 ผลิตภัณฑ์ หรือมีหลายขนาดบรรจุ ให้สร้างเลขหมาย GTIN-13 ใหม่ โดยเปลี่ยนเฉพาะตัวเลขหลักที่ 9 - 12 เรียงลำดับไปเรื่อยๆ จนครบตามจำนวนผลิตภัณฑ์

ตัวอย่างการสร้างบาร์โค้ดขายปลีก สำหรับผลิตภัณฑ์ 2 ตัว

1. Light Day Cream SPF50+ PA+++

2. Aloe 100% Pure Body Essence 

จะสามารถกำหนดเลขหมาย GTIN-13 ได้ 0001 ถึง 9999 รหัสประเทศ + รหัสประจำตัวบริษัท + รหัสสินค้าปลีก + ตัวเลขตรวจสอบ

GTIN-14 เป็นเลขหมายประจำตัวสินค้า สำหรับสร้างบาร์โค้ดสินค้าขายส่ง ใช้ระบุแทนกล่องบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ เพื่อความสะดวกในการขนส่งและเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ กำหนดให้ 1 บาร์โค้ดแทน 1 หน่วยขนาดบรรจุภัณฑ์ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ

  • ตัวเลขหลักที่ 1 เป็น รหัสสินค้าค้าส่งที่ผู้ใช้งานกำหนดแทน SKU สินค้า
  • ตัวเลขหลักที่ 2-13 เป็น เลขหมาย GTIN-13 จำนวน 12 หลักแรก 
  • ตัวเลขหลักที่ 14 เป็น หมายเลขตรวจสอบ (Check Digit)

ทั้งนี้ในการจัดการสินค้าของห้างโมเดิร์นเทรด และธุรกิจสมัยใหม่ผลิตภัณฑ์ที่มีหลายขนาดบรรจุภัณฑ์ จะต้องสร้างเลขหมาย GTIN-14 สำหรับค้าส่ง โดยนำ GTIN-13 จำนวน 12 หลักแรกของผลิตภัณฑ์นั้นๆ มาเพิ่ม รหัสสินค้าค้าส่ง ด้านหน้า หลังจากได้เลขหมายประจำตัวสินค้า GTIN-13 และ GTIN-14 ของสินค้า และขึ้นทะเบียนกับสถาบันรหัสสากลเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการก็สามารถเอาเลขหมาย GTIN-13 และ GTIN-14 ดังกล่าว มาสร้างสัญลักษณ์บาร์โค้ดสำหรับติดบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางของตนเองได้เลยครับ คราวนี้ไม่ว่าจะขายสินค้าในโมเดิร์นเทรด ส่งออกต่างประเทศ หรือแม้แต่เอาไว้เช็คสต็อกสินค้าขายออนไลน์ ก็บริหารจัดการได้ง่ายๆ 

สัญลักษณ์บาร์โค้ดมีกี่รูปแบบ?

ในปัจจุบันรูปแบบบาร์โค้ด มีทั้งที่เป็น แถบแท่งสีขาวสลับดำและมีตัวเลขกำกับ เรียกว่า Linear Barcode หรือบาร์โค้ด 1 มิติ (1D Barcode) ซึ่งขนาดความกว้างของบาร์โค้ด จะขึ้นอยู่กับรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถอ่านค่าโดยใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ด

แบบที่มีลักษณะเหมือน QR Code เรียกว่า Two Dimensional Barcode หรือบาร์โค้ด 2 มิติ (2D Barcode) ซึ่งได้รับการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง แต่ใส่จำนวนข้อมูลได้มากขึ้นกว่าแบบ Linear Barcode ที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่บนฉลากสินค้า นอกจากนี้ Two Dimensional Barcode ยังออกแบบให้สามารถอ่านข้อมูลได้ ถึงแม้ในกรณีที่มีบางส่วนของบาร์โค้ดเสียหาย 


ที่มาข้อมูล : สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ www.tnpoem.com