SERVICE CHARGE เป็นค่าจ้างหรือไม่

          การพิจารณาว่าเงินค่าบริการ (Service Charge) จะถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่าเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้เก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลา  ในการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสับดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน รวมถึงเงินที่จ่ายในวันหยุด หรือวันลาที่ไม่มีการทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับ เงินดังกล่าวถือเป็นค่าจ้างตามนิยามในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

          สำหรับเงินค่าบริการ (Service Charge) ที่ลูกจ้างได้รับนั้น หากเป็นกรณีที่นายจ้างเรียกเก็บจากผู้ที่มาใช้บริการแล้วรวบรวมเพื่อแบ่งเฉลี่ยให้แก่ลูกจ้างจำนวนเท่าๆ กัน มีการประกันค่าบริการขั้นต่ำที่ลูกจ้างจะได้รับในแต่ละเดือน โดยหากแบ่งจ่ายให้กับลูกจ้างแล้วได้รับน้อยกว่าประกันขั้นต่ำที่กำหนด นายจ้างจะจ่ายส่วนที่ขาดให้จนครบ ค่าบริการ (Service Charge) ดังกล่าว จึงไม่ใช่เงินเฉพาะที่เรียกเก็บ จากผู้มาใช้บริการเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายโดยมีจำนวนขั้นต่ำที่แน่นอนและจ่ายเป็นประจำทุกเดือน "ค่าบวิการ (Service Charge)" จึงถือเป็น "ค่าจ้าง" ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

          แต่ถ้าการจ่ายค่าบริการ (Service Charge) ดังกล่าว นายจ้างเรียกเก็บจากผู้มาใช้บริการแล้วนำมาเฉลี่ยจ่ายให้เก่ลูกจ้างในแต่ละเดือน ลูกจ้างจะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยไม่มีการประกันเงินค่าบริการขั้นต่ำต่อเดือนให้ลูกจ้าง เป็นกรณีที่นายจ้างทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยเท่านั้น เงินค่าบริการดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินนายจ้างที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง "ค่าบริการ (Service Charge)" กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่ค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

 

ที่มา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 

หัวข้ออื่นที่น่าสนใจ