7 จุดสำคัญ ปรับท่านั่งทำงาน ไล่ออฟฟิศซินโดรม

 

ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง...

          ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) โรคยอดฮิตของวัยทำงาน มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนทำงานมากขึ้น  อาการมีตั้งแต่หนักไปถึงเบา ตั้งแต่เมื่อยล้าบริเวณคอบ่าไหล่ ปวดชาจากปลายประสาทต่าง ๆ ที่ถูกกดทับ รวมถึงเนื้อเยื่อและเอ็นอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการนั่งทำงานที่ผิดท่านั่ง

          การป้องกันและบรรเทาปัญหาออฟฟิศซินโดรมทำได้โดยการปรับท่าทางการนั่ง การพักผ่อน การออกกำลังกาย และการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับท่าทางการทำงาน เช่น โต๊ะยืน เก้าอี้ที่รองรับท่านั่งที่ดี หรือการใช้โปรแกรมแจ้งเตือนในการพักผ่อนและทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถลดความเครียดและความตึงเครียดได้ 

วันนี้น้องบีลพัสจะพามาดู 7 จุดสำคัญ ปรับท่านั่งทำงาน ไล่ออฟฟิศซินโดรมกัน

1.เก้าอี้นั้นสำคัญไฉน 

  • เก้าอี้ต้องมีพนักพิง เอนไปด้านหลังประมาณ 100-130 องศา (มุมพอดี) และส่วนสูงพนักพิงต้องเหมาะสม ไม่สูงเกินไหล่ของผู้นั่ง ต่ำกว่าได้เพียงเล็กน้อย
  • เก้าอี้ที่ดีต้องปรับระดับความสูงต่ำได้ ความสูงที่เหมาะสมกับคุณ ควรอยู่ในระดับที่วางแขนบนโต๊ะทำงานได้อย่างสบาย ๆ  โดยที่เท้าติดพื้น และเข่าสูงกว่าสะโพกเล็กน้อย
  • เก้าอี้ที่เบาะไม่นุ่มจนเกินไป เก้าอี้ที่เบาะนุ่มอาจจะให้ความสบายในการนั่งทำงานช่วงแรก ๆ ทว่านานไปส่งผลให้กระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานผิดรูปได้ ทางที่ดีเลือกที่ไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไปจะดีกว่า

2.ศีรษะต้องตั้งตรง

          ไม่ก้มไปด้านหน้าหรือเงยไปด้านหลังมากเกินไป เพราะถ้าอยู่ในลักษณะก้มเมื่อไร แปลว่าเรากำลังใช้งานกล้ามเนื้อคอในการก้มมากกว่าปกติ หากก้มคอบ่อย ๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้คอบาดเจ็บ ปวดคอปวดหลังส่วนบน หรือกระดูกคอเสื่อมก็เป็นได้ ทั้งนี้โต๊ะทำงานเองก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ควรปรับให้อยู่ในระดับเสมอกับศรีษะ

3.หัวไหล่อยู่ในระดับเดียวกันโต๊ะ

          การจัดระเบียบไหล่ให้ถูกต้องขณะนั่งทำงานนั้น ต้องอยู่ในลักษณะที่ไม่ยกขึ้น อยู่ในระนาบเดียวกันกับโต๊ะทำงาน รวมถึงบนโต๊ะต้องมีพื้นที่ให้ได้วางแขนได้แบบพอดี ไม่งอหรือยกสูงจนเกินไป เพราะหากทำเช่นนั้นซ้ำ ๆ ในระยะยาว อาจจะเกิดอาการเกร็งกล้ามเนื้อสะสม จนเกิดเป็นอาการปวดบ่า

4.ไม่งอหรือยกแขน

          ควรวางแขนให้อยู่ในระดับเสมอกับคีย์บอร์ด หรือโต๊ะทำงาน จริง ๆ แล้วตำแหน่งอยู่ต่ำกว่าได้นิดหน่อย เพราะตามองศาการวางแขนที่ถูกต้องแล้วอยู่ประมาณ 100- 110 องศา ตัวข้อมือควรอยู่ต่ำกว่าแขนนิดนึงเพื่อสมดุลที่ถูกต้อง

5.หลังพิงเก้าอี้ ตั้งตรง

          ท่านั่งที่ซัพพอร์ตหลังที่ดีนั้นควรอยู่ในลักษณะตั้งตรง เสมอกับพนักพิงของเก้าอี้ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำมุม 90- 100 องศา ไม่ก้มมาข้างหน้าหรือแอ่นไปด้านหลังมากเกินไป หรือจะใช้เบาะรองหลังเป็นตัวช่วยปรับให้หลังอยู่ในตำแหน่งตั้งตรง ก็เป็นทางเลือกที่ดี อย่าลืมว่าหลังเป็นอวัยวะสำคัญ มีหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นโครงสร้างหลักที่สำคัญ หากบาดเจ็บขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่

6. นั่งเต็มก้น

          ถ้าคุณนั่งไม่ถูกวิธี นั่งแบบครึ่งก้น อาจส่งผลให้เกิดอาการชาหรือปวดบริเวณก้นได้ ยิ่งถ้าทำซ้ำ ๆ เป็นเวลานานจนเกิดเป็นพฤติกรรมสะสม นานวันเข้าอาจจะทำให้เกิดอาการชาลงปลายขาได้

7. เข่าเสมอสะโพก

          ควรรักษาระดับให้อยู่ในตำแหน่งที่เสมอกัน โดยสะโพกสามารถต่ำกว่าเข่าได้เล็กน้อย (สะโพกควรทำมุม 90- 100 องศา) พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งพับข้อเข่าเป็นเวลานาน เพราะบริเวณนั้นมีหลอดเลือดและเส้นประสาทอยู่หลายเส้น หากถูกกดทับนาน ๆ มักเกิดการอักเสบและบาดเจ็บได้ง่าย ส่วนตำแหน่งการวางเท้านั้น วิธีที่ถูกต้องคือวางราบไปกับพื้น อย่าให้เท้าลอย

 

 

ที่มา JobsDB