Financial ratio analysis

ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจมักประกอบไปด้วยข้อมูลย่อยๆ จำนวนมาก การลงไปดูข้อมูลย่อยๆ ทีละตัวอาจทำให้ตาลายและหลุดการวิเคราะห์ของภาพใหญ่ไปได้ง่ายๆ และนี่ก็ยิ่งยากต่อการเปรียบเทียบลักษณะทางการเงินของบริษัท

ความวุ่นวายนี้ทำให้มีการคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า “อัตราส่วนทางการเงิน” ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจหนึ่งๆ เข้าใจสถานะทางการเงินได้ง่าย และรวดเร็ว 

อัตราส่วนทางการเงิน 

อัตราส่วนทางการเงิน เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์งบการเงิน เพื่อให้ได้ตัวเลขที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของกิจการ ทำให้เห็นภาพรวมของกิจการ อัตราส่วนทางการเงิน  คือการนำข้อมูลจากงบการเงินตั้งแต่ 2 รายการขึ้นไป มาสร้างความสัมพันธ์กัน เพื่อเข้าใจถึงสภาพการณ์ทางการเงินที่แท้จริง

การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio analysis) เป็นการนำข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินมาวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของธุรกิจ และข้อเท็จจริงของธุรกิจ เพื่อใช้ตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีเหตุผล  โดยนำตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินมาเปรียบเทียบกัน  เพื่อสามารถมองเห็นปัญหาทางการเงินและปัญหาอื่นๆ ที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินทำให้ทราบว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหา และ อะไรคือเครื่องแสดงอาการของปัญหาเหล่านั้น เพื่อจะได้หาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงประเด็น ในการนำอัตราส่วนทางการเงินมาเปรียบเทียบกันนั้น จะมีการเปรียบเทียบใน 2 ลักษณะคือ

1.เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน (ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม) เรียกว่า Cross section analysis

2.เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของบริษัทในปัจจุบันกับอดีตเพื่อพยากรณ์ แนวโน้มในอนาคต เรียกว่า Time series analysis

ทั้งนี้อัตราส่วนทางการเงินนั้นมีเยอะมาก เรียกได้ว่ามีเป็นสิบๆ ตัว แต่อัตราส่วนทางการเงินที่นิยมนำมาใช้พิจารณาอยู่ 5 อัตราส่วน ดังนี้

อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio)

อัตราส่วนสภาพคล่องเกิดจากการเอาสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัทมาหารกับหนี้สินหมุนเวียนของบริษัท ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ คือมันใช้ชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของบริษัท ถ้าได้ค่าสูงกว่า 1 แสดงว่าบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน หมายความว่าบริษัทมีสภาพคล่องสูง ไม่มีปัญหาการชำระหนี้ระยะสั้น แต่ถ้าค่าต่ำกว่า 1 ก็อาจแสดงว่าบริษัทมีปัญหาสภาพคล่อง เป็นต้น

วิธีแก้นั้นก็อาจจะต้องลดอัตราการลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวลง ถือสินทรัพย์หมุนเวียนให้มากขึ้น หรือลดการเพิ่มทุนโดยการใช้แหล่งเงินกู้ระยะสั้นเพื่อลดหนี้สินหมุนเวียน

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E)

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ Debt to Equity Ratio คือการเอาหนี้ของบริษัททั้งหมดมาหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งอัตราส่วนนี้เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดระดับหนี้ของบริษัทจากสินทรัพย์ทั้งหมด โดยธุรกิจทั่วไปจะถือว่าอัตราส่วนนี้ไม่ควรจะสูงกว่า 2 พูดง่ายๆ คือหนี้ทั้งหมดที่บริษัทมีไม่ควรจะสูงเกินทุนพื้นฐานของบริษัทเอง

ค่าตรงนี้มีความสำคัญพอตัว ทั้งในมุมของการประเมินของสถาบันการเงินหรือนักลงทุน เพราะธุรกิจที่มีสินทรัพย์โตขึ้นเรื่อยๆ นั้น ไม่ได้สื่อถึงการเติบโตอย่างมีคุณภาพเสมอไป เพราะบริษัทอาจทำการกู้เงินทั้งระยะสั้นและยาวมาขยายสินทรัพย์ไปเรื่อยๆ ก็ได้ ซึ่งถ้าบริษัททำแบบนี้ สิ่งที่สะท้อนมาก็คือค่า D/E ของบริษัทจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือบริษัทที่ค่า D/E โตขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจจะโตขึ้น รายได้จะมากขึ้น แต่ก็มีสัญญาณอันตรายของธุรกิจอยู่ เพราะธุรกิจกำลังโตด้วยการขยายหนี้

อัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สิน (ROA)

อัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สิน หรือ Return on Asset เกิดจากการเอารายได้สุทธิของบริษัทมาหารกับสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท อัตราส่วนนี้ใช้ชี้วัดว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่มี แค่ไหน ซึ่งก็ชัดเจนว่าค่าตรงนี้ยิ่งมาก ก็ยิ่งดี

อย่างไรก็ดี ข้อพึงระวังก็คือ การเทียบ ROA ให้เหมาะสม ต้องเป็นการเทียบภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน และบริษัทที่เทียบต้องมีระดับการโตของธุรกิจพอๆ กัน เนื่องจากค่า ROA ของแต่ละธุรกิจมีความแตกต่าง กันมาก และพร้อมกันนั้น ค่า ROA ของบริษัทที่อยูในคนละขั้นของการเติบโตก็ต่างกันเช่นกัน

อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE)

อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น หรือ Return on Equity ก็เกิดจากการเอารายได้สุทธิของบริษัทมาหารกับส่วนของผู้ถือหุ้น มันเป็นอัตราส่วนที่ใช้ในการวัดความคุ้มทุนของเงินทุนที่ผู้ถือหุ้นเอาลงไปในธุรกิจ แน่นอนว่าค่ายิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะหมายความว่าธุรกิจนั้นๆ เอาเงินทุนที่หุ้นส่วนธุรกิจลงเงินไป มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) และ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)

ค่าอัตรากำไรขั้นต้น เกิดจากการเอากำไรขั้นต้นมาหารด้วยยอดขายแล้วคูณด้วย 100 (ค่าออกมาเป็น %) และอัตรากำไรสุทธิก็คือการเอากำไรสุทธิมาหารด้วยยอดขายแล้วคูณด้วย 100 สองค่านี้มีหน้าที่คล้ายๆ กันคือ ใช้วิเคราะห์อัตราผลกำไรของธุรกิจ ซึ่งตัวเลขยิ่งเยอะก็ยิ่งดี

แต่อัตราส่วนทั้งสองนี้ก็เป็นการบ่งชี้สัญญาณอันตรายได้ด้วย เช่น ถ้าบริษัท A มีรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ มีกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตรากำไรขั้นต้นกลับค่อยๆ ลดลงช้าๆ เป็นข้อบ่งชี้ว่าธุรกิจอาจมีปัญหาบางอย่างแล้ว เพราะอัตรากำไรลดลง ทางผู้บริหารก็ต้องลงไปดูในรายละเอียดต่างๆ ของงบการเงินว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นได้ว่าเกิดจากการที่ต้นทุนการขายนั้นขยายตัวไปเร็วกว่ายอดขาย ทางผู้บริหารต้องพิจารณาปรับรายละเอียดของต้นทุนการขายให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้มันโตไปเร็วกว่ายอดขาย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ทั้งจากมุมของนักบริหาร นักลงทุน และสถาบันทางการเงินภายนอกที่จะให้สินเชื่อหรือเงินกู้ มันเป็นสิ่งที่จะทำให้เรามองภาพของธุรกิจในแง่มุมที่เราต้องการได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้น มันก็เป็นตัวช่วยในการเช็คความผิดปกติต่างๆ ที่เราจะมองไม่เห็นถ้าไม่มองเป็นอัตราส่วน เช่น ถ้าดูงบการเงินแบบเร็วๆ เราอาจจะเห็นยอดขายก็โตขึ้น กำไรก็โตขึ้น แต่มาดูดีๆ ผ่านการทำเป็นอัตราส่วนทางการเงิน เราอาจพบว่าอัตรากำไรลดลง แล้วมารื้อดูต่อ เราก็อาจพบว่าค่า D/E เพิ่มขึ้น นี่อาจทำให้เราฉุกคิดว่ามันมีอะไรผิดปกติ หากสำรวจดูอาจพบว่าบริษัทไปกู้เงินมาเพื่อเป็นงบในการส่งเสริมการขาย ซึ่งผลก็คือทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่อัตราผลกำไรลดลง ซึ่งก็แน่นอนว่านี่เป็นตัวบ่งชี้พื้นฐานว่าการโตของบริษัทเป็นการโตที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ที่มา https://sme.krungthai.com/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=45&itemId=287

ตารางสรุป อัตราส่วน ทางการเงิน

  • อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratios)
  • อัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน (Leverage Ratios)
  • อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร (Profitability Ratios)
  • อัตราส่วนประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ (Assets Management Ratios)
  • อัตราส่วนมูลค่าทางการตลาด (Marker Value Ratios)

รายละเอียดเพิ่มเติม

อ้างอิง https://classic.set.or.th/dat/vdoArticle/attachFile/AttachFile_1472551305959.pdf