5 วิธีหยุดต้นตอปัญหาสินค้าหมดสต็อกแบบไม่รู้ตัว พร้อมสูตรคำนวณให้เป๊ะ

     “สินค้าหมดสต็อก” เป็นหนึ่งในความเจ็บปวดที่แท้จริงของทั้งคนขายและคนซื้อ แม้ว่าการที่สินค้าหมดสต็อกนั้น จะหมายความว่า สินค้าชิ้นนั้นขายดีและประสบความสำเร็จในการขายเป็นอย่างมาก แต่ในอีกแง่หนึ่งเป็นเรื่องแย่ที่ทางร้านไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ได้

ผลลัพธ์ด้านลบเมื่อสินค้าหมดสต็อก

  • การสูญเสียลูกค้า ยอดขาย และรายได้
  • ความพึงพอใจของลูกค้าลดลง ซึ่งนำไปสู่การเสียชื่อเสียงของทางร้าน
  • เตรียมรับมือรีวิวแย่ๆ จากลูกค้า
  • ลูกค้าหันไปซื้อของจากคู่แข่ง
  • การเติบโตลดลง

ดังนั้น อย่ามองว่าปัญหาเรื่องสินค้าหมดสต็อกเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะมีรายงานว่า ทาง Walmart เองก็เคยสูญเงินไปเกือบ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐมาแล้วจากประเด็นนี้ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ควรจะได้ที่ไม่น้อยเลย ที่สำคัญ ยังมีตัวเลขชี้ให้เห็นว่า นักช็อปถึง 70% หันไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งแทนที่จะต้องมารอสินค้าที่หมดไปแล้วในรอบต่อไปอีกด้วย

ต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาสินค้าหมดสต็อก

ข้อมูลไม่ถูกต้อง

ความไม่ถูกต้องของข้อมูลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างบ่อยเมื่อต้องทำการจัดการกับเรื่องของสินค้าคงคลัง ด้วยความที่มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไหลเข้าและออกจากคลังสินค้าอยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเกิดความผิดพลาดและความแตกต่างทางด้านของข้อมูลที่เป็นจริงและตัวเลขที่มีอยู่ในกระดาษ

Lead Time คลาดเคลื่อน

บางครั้งเวลาที่ใช้ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ของทางร้าน จากผู้ผลิตไปยังคลังสินค้าอาจนานกว่าที่คิด ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่มาถึงล่าช้ากว่าที่วางแผนเอาไว้

สั่งของน้อยไป

ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องชัดเจนนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่ดี โดยเฉพาะการคาดการณ์ความต้องการสินค้าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการออเดอร์สินค้าเข้ามาในปริมาณที่น้อยกว่าที่ตลาดต้องการ และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสินค้าหมดสต็อกได้อย่างไม่คาดคิด

ไม่รอบคอบในการทำสเปรดชีต (Spreadsheet)

หนึ่งในปัญหาเกิดจากการจัดการสินค้าคงคลังด้วยตนเอง ซึ่งถ้าทางร้านยังใช้ Excel เพื่อตรวจสอบ KPIs ของรายการสินค้า ในการศึกษาที่จัดทำโดย Stephen Powel จาก Tuck Business School นั้น ได้ทำการวิเคราะห์สเปรดชีต 25 ตัวอย่าง ซึ่งพบว่า สเปรดชีตสำหรับการทำงาน หรือ เวิร์กบุ๊ก 15 ชิ้นนั้น มีข้อผิดพลาดถึง 117 ข้อ ในขณะที่ 40% ของข้อผิดพลาดเหล่านั้น มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อธุรกิจที่ศึกษา แต่กลับมีข้อผิดพลาด 7 ข้อ ที่สามารถทำให้เกิดความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 – 110 ล้านเหรียญสหรัฐตามการประมาณการของนักวิจัยเลยทีเดียว ฉะนั้นร้านค้าออนไลน์ควรระมัดระวังและละเอียดรอบคอบมากขึ้น เพราะข้อผิดพลาดเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่ปัญหาของสินค้าหมดสต็อกเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปสู่การสูญเสียครั้งใหญ่อีกด้วย

5 เคล็ด (ไม่) ลับ ที่จะช่วยป้องกัน ปัญหาสินค้าหมดสต็อก

1. ข้อมูลต้องเรียลไทม์

     อย่างที่ทราบแล้วว่า ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุหลักของปัญหาสินค้าคงคลัง ดังนั้น ขั้นตอนแรกในการป้องกันปัญหาสินค้าหมดสต็อกคือ การใช้ระบบการจัดการสินค้าคงคลังที่ระบบสามารถอัปเดตสต็อกสินค้าอัตโนมัติได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงขายสินค้า หรือมีการส่งคืนสินค้า

     ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจการสั่งซื้อสินค้าแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะวิเคราะห์ด้วยว่า สินค้าตัวที่หมดเร็ว ขายง่าย ต้องรีบเพิ่มสินค้าใหม่ แต่ถ้าสินค้าตัวไหนต้องใช้เวลาในการขาย ไม่ต้องรีบร้อนเติมสต็อก เพื่อทำให้มีสินค้าในสต็อกตามความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง

2.คาดการณ์ความต้องการ

     การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะจะช่วยให้คนทำการค้ามีการทำงานอย่างเป็นแบบแผน ซึ่งสามารถทำการคาดการณ์จากข้อมูลการขายในอดีต ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถส่งผลกระทบด้วย เช่น แคมเปญการตลาด โปรโมชั่น ฤดูกาล เป็นต้น การมีข้อมูลตัวเลขเชิงลึกแบบนี้ จะทำให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า สินค้านั้นจะขายได้ดีมากน้อยแค่ไหน

     นอกจากนี้ ในช่วงที่ทำการคาดการณ์นั้น ควรให้ความสนใจกับเทรนด์ของผู้บริโภคในตลาด เพื่อสังเกตว่ามีอะไรใหม่ที่ผู้คนสนใจหรือไม่ เพื่อไม่เป็นการสูญเสียโอกาสในการทำการค้าไป สุดท้าย อย่าลืมสร้างกระบวนการรายเดือนที่ทำซ้ำได้ เพื่อช่วยวิเคราะห์การคาดการณ์ก่อนหน้าและเปรียบเทียบกับผลลัพธ์จริงว่า มีความแม่นยำแค่ไหนและมีอะไรที่ต้องปรับปรุงหรือไม่

3.สูตรคำนวณสินค้าคงคลังขั้นต่ำและการสั่งซื้อใหม่

    ในการคำนวณสินค้าคงคลังขั้นต่ำและการสั่งซื้อใหม่ สามารถใช้สูตรง่ายๆ เหล่านี้:

สั่งซื้อใหม่ = (รายการสินค้าที่ขายต่อวัน) x (วันที่ต้องใช้สำหรับสินค้าคงคลังใหม่ที่จะมาถึง) + สินค้าคงคลังขั้นต่ำ หรือ สินค้ากันชน (Safety Stock)

สินค้าคงคลังขั้นต่ำ = (การใช้งานสูงสุดต่อวัน * ระยะเวลารอคอยสินค้า (Lead Time) สูงสุดเป็นวัน) – (การใช้งานเฉลี่ยรายวัน * ระยะเวลารอคอยสินค้าเฉลี่ยเป็นวัน)

ตัวอย่างเช่น ทางร้านขายสินค้า 75 ถุงต่อวัน และใช้เวลา 8 วันนับตั้งแต่การสั่งซื้อใหม่ เพื่อรอสินค้าใหม่มาถึง ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดธนาคาร สามารถขายได้มากถึง 85 ถุง และ Lead Time สูงสุดคือ 10 วัน

สินค้าคงคลังขั้นต่ำ = (85 x 10) – (75 x 8) = 250

สั่งซื้อใหม่ = (75) x (8) + (250) = 850

ดังนั้น  เมื่อระดับสต็อกถึง 750 ถุง ทางร้านสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ วิธีนี้ก็เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะช่วยให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องยกเลิกการซื้อและมองหาสินค้าจากที่อื่น

4. ร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์

     ทางออกที่ดีอย่างหนึ่งคือ การทำงานร่วมกับบริษัทหรือผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง เพื่อลดภาระของจำนวนงานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของซัพพลายเชน ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายรายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถช่วยให้กระบวนการการทำงานด้านโลจิสติกส์ต่างๆ ของทางร้านเป็นไปอย่างอัตโนมัติ

     การใช้ผู้ช่วยที่มีประสบการณ์ตรงเฉพาะในด้านนี้ จะทำให้ทางร้านหรือคนคนค้าขายมีเวลาที่จะสนใจในสิ่งอื่นๆ และพุ่งสมาธิไปที่การทำให้ธุรกิจเติบโตได้โดยที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังในเรื่องของสต็อกสินค้าว่าจะหมดหรือต้องสั่งเพิ่มเข้ามาเมื่อไร

5. สื่อสารกับลูกค้า

     แม้ว่าจะมีระบบที่ดีที่สุดแล้ว ปัญหาสินค้าหมดสต็อกก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ ในกรณีนี้การพูดคุยกับลูกค้าด้วยความจริงใจเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาความน่าเชื่อถือและความสัมพันธ์อันดีเอาไว้ได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการอัปเดตข้อมูลบนหน้าเพจของสินค้าและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สินค้านี้หมดสต็อกแล้ว รวมถึงควรระบุวันที่สินค้าจะเข้ามาใหม่ และให้โอกาสลูกค้าได้ทำการทิ้งอีเมลไว้ให้เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีสินค้าเข้ามาใหม่

     นอกจากนี้ ทางร้านยังสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันกับของที่หมดไปเพื่อเป็นการทดแทน และเสนอคูปองหรือส่วนลดให้ลูกค้า เพื่อกันไม่ให้ลูกค้าเหล่านี้ไปซื้อของจากร้านคู่แข่งแทน อีกทั้ง ยังสามารถเสนอการจัดส่งฟรีสำหรับผู้ที่ทิ้งอีเมลไว้และยินดีที่จะรอสินค้าเข้ามาใหม่ได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่จะรอ แม้วิธีนี้อาจจะทำให้ร้านมีกำไรลดลง แต่ก็ยังดีกว่าการที่ต้องสูญเสียยอดขายและเสี่ยงที่ลูกค้าจะไม่กลับมาซื้อของที่ร้านอีก

 

     แม้การป้องกันไม่ให้สินค้าหมดสต็อกเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและไม่สามารถทำได้ในช่วงข้ามคืน เป็นงานยากอีกอย่างที่คนทำอีคอมเมิร์ซต้องอาศัยความพยายามและความละเอียดรอบคอบ แต่ถ้าลองนำเอาเคล็ดลับที่กล่าวไปประยุกต์ใช้ จะช่วยให้การบริหารจัดการสินค้าหลังบ้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาในเรื่องได้ โดยเฉพาะการคาดการณ์ความต้องการของตลาดและการใช้งานระบบอัตโนมัติเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ จะช่วยให้คนค้าขายได้รับประโยชน์อย่างมากในระยะยาว

     ดังนั้น การป้องกันสินค้าไม่ให้หมดสต็อกนั้น ถือเป็นอีกวิธีที่ดีในการช่วยลดต้นทุน และสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าของร้านจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดกลับไป

ที่มา ไปรษณีย์ไทย