สินทรัพย์คืออะไร? แตกต่างจากทรัพย์สินอย่างไร?

ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีเงินเฟ้อในปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนมากเริ่มสนใจในด้านการเงินและการลงทุนมากขึ้น เพื่อปกป้องมูลค่าของเงินในมือไม่ให้เสื่อมค่าลง การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ กองทุน หรือตราสารทุนเป็นต้น กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมาก แม้ว่าคำศัพท์ "สินทรัพย์" จะเป็นคำที่พบเห็นบ่อยในเชิงการเงินและการลงทุน แต่สำหรับบางคนที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวหรือต้องจัดทำบัญชีและงบการเงินเอง อาจยังสับสนกับคำนี้ ดังนั้นเราจะมาช่วยแยกความแตกต่างของคำว่า "สินทรัพย์" และ "ทรัพย์สิน" ให้เข้าใจง่ายขึ้น

สินทรัพย์คืออะไร?

สินทรัพย์คือ ทรัพยากรมีมูลค่าที่บุคคลหรือกิจการเป็นเจ้าของ หรือมีสิทธิในการครอบครอง รวมถึงสามารถถือเอาประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ในอดีต สินทรัพย์ที่มีตัวตนรูปร่างชัดเจน เช่น บ้าน ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร รถยนต์ อุปกรณ์ต่างๆ สิ่งที่ไม่มีตัวตนก็สามารถเป็นสินทรัพย์ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ สัมปทาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เครื่องหมายการค้า โดยทรัพยากรต่างๆ จะสามารถถือเป็นสินทรัพย์และสามารถได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเมื่อเข้าข่ายองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนดังนี้

  • สินทรัพย์อยู่ในความควบคุมของบุคคลหรือกิจการ: กล่าวคือ สามารถนำสินทรัพย์นั้นๆ ไปใช้ประโยชน์ตามศักยภาพเมื่อใดก็ได้ เช่น กิจการเป็นเจ้าของวัตถุดิบในกระบวนการผลิต กิจการจึงมีสิทธิในการนำวัตถุดิบไปใช้ในการผลิตสินค้าได้ทันที หรือบุคคลเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ ก็สามารถอยู่อาศัย ทำการค้า ปล่อยเช่า หรือขายทำกำไร เมื่อใดก็ได้ตามต้องการ
  • สินทรัพย์ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต: สินทรัพย์ที่ทำการครอบครองอยู่นั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้การค้า ซึ่งกิจการมีสิทธิในการเรียกเก็บเงินสดจากลูกหนี้จากการขายสินค้าหรือบริการได้เมื่อครบกำหนดชำระตามที่ได้ตกลงกันไว้ เครื่องจักรที่กิจการครอบครองอยู่ก็สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อส่งขายต่อไปได้ หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถถือครองเพื่อเอาประโยชน์จากมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตได้
  • สินทรัพย์สามารถวัดมูลค่าราคาต้นทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ: สินทรัพย์ต้องสามารถตรวจสอบราคาได้ การบันทึกมูลค่าต้นทุนในงบการเงินต้องมีความน่าเชื่อถือ อย่างลูกหนี้การค้า เนื่องจากมีใบแจ้งหนี้ที่ระบุยอดเงินที่สามารถเรียกเก็บได้ จึงทำให้วัดมูลค่าได้

หลังจากทราบกันไปคร่าวๆ แล้วว่าสินทรัพย์คืออะไร อีกหนึ่งตัวอย่างที่หลายคนอาจจะยังสงสัยไม่น้อยเลยนั่นก็คือการเช่าที่ดินในการดำเนินกิจการ ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้นเอง นับว่าเป็นสินทรัพย์ได้หรือไม่ คำตอบก็คือ นับว่าเป็นสินทรัพย์เช่นกัน เพราะสิทธิในการเช่าที่ดินโดยขณะที่ยังเป็นผู้เช่าอยู่ ก็เปรียบเสมือนที่ดินนั้นอยู่ในความควบคุมของกิจการ และกิจการสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นได้ ทำให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต

ประเภทของสินทรัพย์

สำหรับหัวข้อนี้จะเป็นประเภทของสินทรัพย์ ที่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน ซึ่งจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ต้องติดตามไปพร้อมๆ กัน

สินทรัพย์หมุนเวียน

สินทรัพย์หมุนเวียนคือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือนำไปใช้ประโยชน์ให้หมดไปได้ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยสามารถแบ่งประเภทย่อยของสินทรัพย์หมุนเวียนได้หลายประเภท ดังนี้

  •  เงินสดหรือเงินฝากธนาคาร: เงินสดในมือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินในประเทศหรือต่างประเทศ ทั้งธนบัตร เหรียญกษาปณ์ ธนาณัติ ดราฟต์ของธนาคาร เช็คที่ถึงกำหนดชำระถึงแม้จะยังไม่ได้นำไปขึ้นเงิน หรือเงินที่ฝากเอาไว้กับธนาคารประเภทบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ ซึ่งเงินเหล่านี้พร้อมนำมาใช้ได้ทันที
  •  รายการเทียบเท่าเงินสด: เงินลงทุนระยะสั้น มีสภาพคล่องสูง พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดที่ทราบมูลค่า และมีความเสี่ยงต่ำที่จะทำให้มูลค่ามีการเปลี่ยนแปลง โดยมีวันครบกำหนดใน 3 เดือน หรือน้อยกว่านั้น เช่น ตั๋วเงินประเภทเผื่อเรียก
  •  เงินลงทุนชั่วคราว: เงินลงทุนที่ตั้งใจจะถือไว้ไม่เกิน 1 ปี เพื่อหาผลกำไรระยะสั้นจากการลงทุน โดยลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและตราสารหนี้ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ หุ้นบุริมสิทธิ พันธบัตรรัฐบาล หรือลงทุนในสินทรัพย์มีค่า เช่น ทองคำ
  •  ลูกหนี้การค้า: ลูกหนี้การค้า หมายถึง เงินสดที่จะได้จากลูกหนี้จากการขายสินค้าหรือบริการเมื่อถึงกำหนดชำระตามที่ได้ตกลงกันไว้ โดยปกติกิจการจะให้เครดิตเทอมแก่ลูกหนี้ไม่เกิน 3 เดือน
  •  ลูกหนี้อื่น: ลูกหนี้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหนี้การค้าจากการดำเนินกิจการตามปกติ
  •  ตั๋วรับเงิน: ตั๋วรับเงินหรือก็คือสัญญาที่จะได้รับเงิน มักได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ โดยถูกจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและต้องมีกำหนดระยะเวลาชำระเงินไม่เกิน 1 ปี อย่างชัดเจน ถึงจะถูกนับว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน
  •  เงินให้กู้ยืมระยะสั้น: เงินให้กู้ยืมระยะสั้นก็คือเงินที่ให้ผู้อื่นกู้ยืมนั่นเอง โดยจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาการใช้คืนไม่เกิน 1 ปี
  •  สินค้าคงเหลือ: สินค้าคงเหลือ หรือสินค้าคงคลัง เป็นสินทรัพย์ที่กิจการมีไว้เพื่อขายตามปกติของกิจการนั้นๆ รวมถึงสินทรัพย์ที่กำลังอยู่ในกระบวนการผลิต วัสดุหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิต ก็เป็นสินค้าคงเหลือเช่นกัน
  •  ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า: ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายออกไปก่อน เพื่อได้รับประโยชน์หรือสินค้าในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเบี้ยประกัน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าโฆษณาจ่ายล่วงหน้า และอื่นๆ
  •  รายได้ค้างรับ: รายได้ค้างรับเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นแล้ว ได้รับเงินแน่นอน แต่กิจการยังไม่ได้รับชำระเงินในตอนนี้ เช่น ดอกเบี้ยค้างรับ ค่าเช่าค้างรับ ฯลฯ
  • สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น: สินทรัพย์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น โดยต้องสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดหรือใช้ได้หมดภายใน 1 ปี

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

หากดูจากชื่อก็ต้องคิดว่าตรงข้ามกับสินทรัพย์หมุนเวียนแน่เลย และใช่แล้ว สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เป็นสินทรัพย์ที่มีการครอบครองและใช้ประโยชน์ในระยะยาว โดยมีระยะเวลานานกว่า 1 ปี และไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว แต่สามารถตีมูลค่าได้ อีกทั้งสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนสามารถเป็นได้ทั้งสินทรัพย์ที่มีตัวตนและสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน โดยสามารถแบ่งประเภทย่อยได้ ดังนี้

  • ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์: สินทรัพย์เหล่านี้ จะเรียกว่าเป็น สินทรัพย์ถาวร ก็ได้เช่นกัน เพราะเป็นสินทรัพย์มีตัวตน มองเห็นได้ด้วยตา สัมผัสได้ทางกายภาพ คงทนถาวรใช้งานได้นานเกินกว่า 1 ปี โดยเฉพาะที่ดินจะไม่นำมาคิดค่าเสื่อมราคาอีกด้วย เนื่องจากเมื่อเป็นเจ้าของแล้วก็สามารถใช้ประโยชน์ได้นานตามที่ต้องการ แต่สำหรับอาคารและอุปกรณ์นั้น ถือว่ายังมีอายุการใช้งานจำกัดอยู่ โดยอาคารมักจะสามารถใช้งานได้ประมาณ 20 - 40 ปี และอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ รถยนต์ รถบรรทุก เครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงาน ก็มีระยะเวลาการใช้งานที่แตกต่างกันไป แต่มักมีอายุมากกว่า 1 ปี จึงจัดว่าเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนได้เหมือนกัน
  • เงินลงทุนระยะยาว: เงินลงทุนที่ตั้งใจจะถือไว้มากกว่า 1 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ตราสารหนี้ระยะยาว
  • สินทรัพย์ไม่มีตัวตน: สินทรัพย์ที่ถึงแม้จะไม่สามารถจับต้องได้ แต่มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เหล่านี้ได้ เช่น ค่าความนิยม เครื่องหมายการค้า ถือว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดไป และยังมี สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ สัมปทาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สัญญาเช่าระยะยาว ซึ่งมีระยะเวลาการใช้ประโยชน์มากกว่า 1 ปี
  • สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น: สินทรัพย์อื่นๆ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยต้องมีอายุการใช้งานหรือระยะเวลาครอบครองยาวนานกว่า 1 ปี

สินทรัพย์ VS ทรัพย์สิน เหมือนกันไหม ต่างกันอย่างไร ?

ได้ทราบกันไปเรียบร้อยแล้วว่าสินทรัพย์คืออะไร แล้วตกลงสินทรัพย์เหมือนกับทรัพย์สินหรือเปล่า ก่อนที่จะไปหาคำตอบ มาดูความหมายและการใช้งานของคำศัพท์สองคำนี้กันหน่อยดีกว่า

ทรัพย์สิน คำศัพท์คำนี้มักถูกใช้โดยทั่วไปและใช้ในวงการกฎหมาย หมายถึง สิ่งของมีค่าต่างๆ ทั้งที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างที่สามารถทำการถือครองได้และตีมูลค่าเป็นเงินได้ ทรัพย์สินสามารถแบ่งได้เป็น

  • ทรัพย์สินมีตัวตน (Tangible assets) เช่น บ้าน คอนโด ที่ดิน โรงงาน รถยนต์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ
  •  ทรัพย์สินทางการเงิน (Financial assets) เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ธนบัตร หุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้
  • ทรัพย์สินไม่มีตัวตน (Intangible assets) เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ

สินทรัพย์ คำนี้จะพบเจอได้บ่อยครั้งในวงการบัญชีและการเงิน ใช้ในการจัดทำบัญชีและงบการเงิน โดยคำว่า สินทรัพย์หมายถึง ทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ที่บุคคลหรือกิจการเป็นเจ้าของอยู่ แต่จะมีความหมายที่กว้างกว่าทรัพย์สินตรงที่ สินทรัพย์นั้นรวมถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตด้วย ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้การค้า จะถือว่าเป็นสินทรัพย์ในทางบัญชี แต่ไม่นับว่าเป็นทรัพย์สิน หรือการที่กิจการไปซื้อรถยนต์ ทำสัญญาจะผ่อนชำระเป็นงวดๆ กิจการสามารถนำรถยนต์นั้นไปใช้ประโยชน์ได้เลย แม้จะยังชำระไม่ครบทุกงวดและยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันนั้น ในทางกฎหมาย รถยนต์คันนั้นเลยยังไม่เป็นทรัพย์สิน แต่ในทางบัญชี รถยนต์คันนั้นถือว่าเป็นสินทรัพย์ของกิจการเรียบร้อยแล้ว

ต่อจากนี้ไป เมื่อพบเจอคำว่า สินทรัพย์ ก็คงไม่ต้องคอยตั้งคำถามอีกแล้วว่า สินทรัพย์คืออะไร ต่างกับทรัพย์สินอย่างไร โดยรวมแล้วทั้งสองคำนี้นั้นมีความหมายเดียวกัน หมายถึงสิ่งของมีค่าต่างๆ ที่มีไว้ในครอบครองนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น บ้าน คอนโด ที่ดิน รถยนต์ โทรทัศน์ ตู้เย็น เงินสด ทองคำ ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิต่างๆ แต่คำว่าสินทรัพย์นั้นจะมีความหมายที่กว้างกว่า โดยครอบคลุมไปถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตด้วย อย่างเช่น การเช่าที่ดินอาคารเพื่อทำธุรกิจ สามารถครอบครองและใช้ประโยชน์ในระหว่างที่ทำการเช่าได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่ก็นับว่าเป็นสินทรัพย์ของเราแล้ว

 

ที่มา www.apthai.com