ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าสินค้า

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/300
วันที่ :   18 มกราคม 2567
เรื่อง :   ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าสินค้า
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 81 (1) (ง) และมาตรา 81 (2) (ก)แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :   บริษัท ก. ได้นำเข้าสินค้า 2 รายการ ดังต่อไปนี้ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผสมในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โดยไม่สามารถใช้ในการบริโภคสำหรับคนได้
    1. สินค้าชื่อ CASSIA GUM POWDER (ผงชุมเห็ด) ประโยชน์และการใช้งาน คือ ใช้ผสมร่วมกับอาหารสัตว์ โดยเป็นสารเพิ่มความข้น สารก่อเจล สารทำให้คงตัว เติมแต่งเพื่อให้เกิดความข้นในอาหารสัตว์ ให้เกิดการคงตัวในอาหารกระป๋องสำหรับสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์เจริญอาหารกินอาหารได้มากขึ้น
    2. สินค้าชื่อ GLYCINE FOR ANIMAL FEED USE (อะมิโน ไกลซีน สำหรับผสมอาหารสัตว์) ประโยชน์และการใช้งาน คือ ใช้ผสมร่วมกับอาหารสัตว์ เป็นสารปรุงแต่งกลิ่นรส เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของสัตว์ ช่วยสร้างโปรตีนและช่วยดูดซึมแคลเซียม
    แต่เนื่องจากสินค้าทั้งสองรายการดังกล่าวไม่เป็นอาหารสัตว์ที่จะต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งบริษัท ก. เป็นผู้รับใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์ตามใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ (แบบ บ.น.ส.1) ดังนั้น การนำเข้าสินค้าดังกล่าว เป็นการนำเข้าอาหารสัตว์ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย :   กรณีบริษัท ก. เป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์ตามใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ (แบบ บ.น.ส.1) โดยบริษัท ก. ได้นำเข้าผลิตภัณฑ์สินค้าทั้งสองรายการดังกล่าว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์กับกรมปศุสัตว์ แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ดังนั้น หากสินค้าดังกล่าวได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นอาหารสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ การนำเข้าสินค้าดังกล่าวย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ก) ประกอบกับมาตรา 81 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา www.rd.go.th

 

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/7024
วันที่ :   1 ธันวาคม 2566
เรื่อง :   ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าสินค้า
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 81 (2) (ก) ประกอบกับมาตรา 81 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :   บริษัท ก. ประกอบกิจการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ มาจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้นำเข้าสินค้าชื่อว่า “CANADA BROWN FLAXSEED FOR ANIMAL FEED USE (เมล็ดบราวน์เฟล็กซีด)” ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผสมในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถ ใช้ในการบริโภคสำหรับคนได้ ประโยชน์และการใช้งานคือช่วยด้านกรดไขมันดีสำหรับเสริมสุขภาพสัตว์ แต่เนื่องจากสินค้าดังกล่าวไม่เป็นอาหารที่จะต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งบริษัท ก. เป็นผู้รับใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์ จึงขอหารือว่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นการนำเข้าอาหารสัตว์ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย :   กรณีบริษัท ก. เป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์ตามใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ (แบบ บ.น.ส.1) โดยบริษัท ก. ได้นำเข้าสินค้าชื่อ “CANADA BROWN FLAXSEED FOR ANIMAL FEED USE (เมล็ดบราวน์เฟล็กซีด)” ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์กับ กรมปศุสัตว์แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ดังนั้น หากสินค้าดังกล่าวได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นอาหารสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ การนำเข้าสินค้าดังกล่าวย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ก) ประกอบกับมาตรา 81 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา www.rd.go.th

 

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/6817
วันที่ :   24 พฤศจิกายน 2566
เรื่อง :   ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าสินค้า
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 81 (1) (ง) และมาตรา 81 (2) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :   บริษัท ก. ประกอบกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง ได้นำเข้าสินค้าดังต่อไปนี้ เพื่อใช้ เป็นวัตถุดิบเพื่อผสมในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โดยไม่สามารถใช้ในการบริโภคสำหรับคนได้
    1. ALGAPRIME DHA P1 (อัลก้าไพร์ม ดีเอชเอ พี1) ช่วยเพิ่มโอเมก้า 3 ที่มีคุณค่าทางสารอาหาร
    2. D’PAL-11PJ DOG FOOD PALATANT (FOR ANIMAL FEED USE) เป็นสารเพื่อเพิ่มรสชาติเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารสำหรับสุนัข
    3. F83032-B1N8TH1, OPTIMIZOR BARDENAS เป็นสารเพื่อเพิ่มรสชาติเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารสำหรับสุนัขและแมว
    4. TETRA SODIUM PYROPHOSPHATE FOR ANIMAL FEED USE ช่วยควบคุมความเป็นกรด ด่าง และเพิ่มความน่ารับประทานในอาหารสัตว์
    5. SODIUM ACID PYROPHOSPHATE FOR ANIMAL FEED USE เป็นสารปรุงแต่งเพื่อเพิ่ม ความน่ารับประทานในอาหารสัตว์
    6. MALTODEXTRIN DE5-7 เป็นสารปรุงแต่งกลิ่นรส ช่วยยับยั้งการดูดซึมกลูโคสและไขมัน
    7. MALTODEXTRIN DE10-12 เป็นสารปรุงแต่งกลิ่นรส ช่วยยับยั้งการดูดซึมกลูโคสและไขมัน
    เนื่องจากสินค้าทั้ง 7 รายการดังกล่าว ไม่เป็นอาหารสัตว์ที่จะต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งบริษัท ก. เป็นผู้รับใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์ บริษัท ก. จึงขอหารือว่าการนำเข้าสินค้าทั้ง 7 รายการดังกล่าวเป็นการนำเข้าอาหารสัตว์ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย :   บริษัท ก. เป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์ โดยบริษัท ก. ได้นำเข้าผลิตภัณฑ์สินค้าทั้ง 7 รายการดังกล่าวซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์กับกรมปศุสัตว์ แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ดังนั้น หากสินค้าดังกล่าวได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นอาหารสัตว์ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ การนำเข้าสินค้าดังกล่าวย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ก) ประกอบกับมาตรา 81 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา www.rd.go.th

 

เลขที่หนังสือ : กค 0702/6075
วันที่ : 25 ตุลาคม 2566
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าสินค้า
ข้อกฎหมาย  มาตรา 81 (1) (ง) และมาตรา 81 (2) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ : บริษัทนำเข้า GELSYS OPC1 เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผสมในการผลิตอาหารสัตว์ โดยเป็นสารเพิ่มความข้น สารก่อเจล สารทำให้คงตัว และเติมแต่งเพื่อให้เกิดความข้นในอาหารสัตว์ ทำให้สัตว์เลี้ยงเจริญอาหารและกินอาหารได้มากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถใช้ในการบริโภคสำหรับคนได้ และนำเข้าโคลีน คลอไรด์ 60% (Choline Chloride 60%) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผสมในการผลิตอาหารสัตว์ ประเภทวัตถุที่ผสมแล้ว ชนิดสารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์) โดยมีสรรพคุณใช้เป็นส่วนผสมสำหรับอาหารสัตว์ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของสัตว์ และเพื่อปรับปรุงความสามารถในการป้องกันการเจ็บป่วยของการสะสมของไขมันในตับและไตบริษัทเห็นว่า GELSYS OPC1 ไม่เป็นอาหารสัตว์ที่จะต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งบริษัทเป็นผู้รับใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์ตามใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ (แบบ บ.น.ส.1) ส่วนผลิตภัณฑ์โคลีน คลอไรด์ 60% (Choline Chloride 60%) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผสมในการผลิตอาหารสัตว์ ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะกับกรมปศุสัตว์ ประเภทวัตถุที่ผสมแล้ว ชนิดสารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์)
  บริษัทจึงขอหารือว่าการนำเข้า GELSYS OPC1 และการนำเข้าผลิตภัณฑ์โคลีน คลอไรด์ 60% (Choline Chloride 60%) ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นอาหารสัตว์ ตามมาตรา 81 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีบริษัทนำเข้าสินค้าดังกล่าว จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (2) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย : 1. กรณีบริษัทเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์ตามใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ (แบบ บ.น.ส.1) และประสงค์จะนำเข้าสินค้า GELSYS OPC1 เพื่อทำให้สัตว์เลี้ยงเจริญอาหารและกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์กับกรมปศุสัตว์ แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ดังนั้น หากสินค้าดังกล่าวได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นอาหารสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ การนำเข้าสินค้าดังกล่าวย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ก) ประกอบกับมาตรา 81 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร
  2. กรณีบริษัทนำเข้าสินค้าโคลีน คลอไรด์ 60% (Choline Chloride 60%) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผสมในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะกับกรมปศุสัตว์ ประเภทวัตถุที่ผสมแล้ว ชนิดสารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์) โดยกรมปศุสัตว์ได้ออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 แล้ว สินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นอาหารสัตว์ ตามมาตรา 81 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีบริษัทนำเข้าสินค้าดังกล่าวจึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (2) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา www.rd.go.th