"และ/หรือ" คำง่ายๆ แต่มีคำถามและปัญหาให้ต้องตีความมากที่สุด

"และ/หรือ" คำง่ายๆ แต่มีคำถามและปัญหาให้ต้องตีความมากที่สุด และเป็นปัญหาที่มีผลต่อต้นทุนในการส่งมอบงานและบริหารสัญญาอีกปัญหาหนึ่ง

ตัวอย่างของปัญหาที่เคยพบ เช่น

สัญญากำหนดให้ผู้ขาย “ส่งมอบเอกสารคู่มือการใช้งานที่มาพร้อมฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ในแต่ละรายการ ให้จัดทำเป็นภาษาไทย และ/หรือ ภาษาอังกฤษ”

จากข้อกำหนดของสัญญา คู่มือต้องส่งเป็นภาษาอะไร ตีความคำว่า และ/หรือ อย่างไร และเพื่อไม่ให้การตรวจรับมีปัญหา มีหลักฐานการตีความประกอบหรือไม่

ในเรื่องนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า

1. คำว่า “และ” หมายถึง กับ, ด้วยกัน

2.คำว่า “หรือ” หมายถึง คําบอกความให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะเอาเงินหรือทอง

3. ส่วนคำว่า “และ/หรือ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่ได้ให้ความหมายไว้ แต่ใน วิกิพจนานุกรม ให้ความหมายของคำว่า “และ/หรือ” หมายถึง คำบอกความให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างก็ได้ เช่น หนังสือต่ออายุสัญญาค้ำประกัน และ/หรือ เพิ่มวงเงินค้ำประกัน

อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ให้ความเห็นว่า

อันที่จริง "และ" ก็คือ "และ" ส่วน "หรือ" ก็คือ "หรือ" แต่คนสมัยใหม่ใช้ภาษาไม่ค่อยเป็น จึงมักจะใช้รวมกัน ตามสำนวนฝรั่ง ในกรณีที่เขาเขียนเช่นนั้น ทางที่ดีก็คือให้ใช้ "และ" เป็นเกณฑ์ คือส่งไปทั้งสองอย่าง เพื่อกันเขาเบี้ยว

วรกร โอภาสนันท์ และ ยอดฉัตร ตสาริกา ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการใช้ "และ" "หรือ" และ "และ/หรือ" ในส่วนของการร่างกฎหมายของต่างประเทศ หากสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ คลิก

ในความเห็นส่วนตัว มีความเห็นว่าการตีความการแสดงเจตนาต้องตีความตามเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา มิใช่ตามตัวอักษร ซึ่งยึดหลักตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการตีความ ในสัญญาไม่ควรเขียนคำหรือข้อความที่ต้องตีความ หรือให้มีความหมายหรือความเข้าใจได้หลายทาง

 

ที่มา กฎหมายเพื่อผู้ประกอบการ