Cashmanagement

เทคนิคบริหารเงินสด ให้ธุรกิจไม่มีวันล้ม

หากเปรียบธุรกิจเป็นร่างกายคนแล้ว “เงินสด” ก็เป็นเหมือนกับกระแสเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจอยู่รอดหรือต้องหยุดชะงัก  ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเงินสดในมือให้เพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ เปรียบเหมือนบุคคลทั่วไปที่จะออกจากบ้านไปทำงานหรือไปทำธุระอะไรก็ตาม หากในกระเป๋าสตางค์ไม่มีเงินหรือมีไม่ถึง 100 บาทคนนั้นก็คงไม่กล้าออกจากบ้านหรือออกไปแบบขาดความมั่นใจ ไม่กล้าซื้อหรือกินอะไรเลย ดังนั้นการทำธุรกิจก็เช่นกัน และบางครั้งธุรกิจกำไรเยอะก็เจ๊ง ได้ถ้าไม่รู้จักวิธี บริหารกระแสเงินสด ให้ดีและมีประสิทธิภาพ

6 หลักบริหารกระแสเงินสดให้คล่อง

การมีกำไรมากมายจากการกทำธุรกิจอาจไม่ได้แปลว่าสภาพคล่องของกระแสเงินสดจะดีไปด้วย หากยอดขายส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของลูกหนี้การค้า จึงเป็นที่มาของคำว่า กำไรเยอะก็เจ๊งได้ นี่คือหลักการบริหารกระแสเงินสดให้ประสบความสำเร็จ

  1. แยกส่วนด้านการเงินของการดำเนินธุรกิจ และด้านการเงินส่วนบุคคลออกจากกัน

จะทำให้คุณสามารถตรวจสอบทางการเงินได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

  1. เก็บรักษาข้อมูลและบันทึกลงบัญชี 

วางแผนทางการเงินอย่างเป็นระบบและขั้นตอน เพื่อให้ง่ายที่จะติดตามและสามารถตรวจสอบความเป็นไปในทางการเงินทั้งหมด รวมทั้งด้านผลกำไร และด้านค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป เพื่อให้สามารถหาวิธีการในการปรับปรุงด้านธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

  1. จัดระเบียบและการเก็บใบแจ้งหนี้

กลยุทธ์ที่ดีที่สุด คือ การส่งข้อความเตือนความจำให้กับลูกค้าที่ยังไม่ได้ชำระเงิน หรือบางธุรกิจยังใช้วิธีด้วยการดำเนินการตรวจสอบเครดิตลูกค้าใหม่ หรือ ใช้วิธีปฏิเสธเครดิตกับลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินที่ไม่ดีอีกด้วย

  1. ชำระหนี้ตรงเวลาที่กำหนด

หากคุณจ่ายหนี้ตรงเวลาสม่ำเสมอ เครดิตการค้าของคุณก็ดีในสายตาเจ้าหนี้ เขาอาจขยายระยะเวลาเรียกเก็บหนี้ให้คุณก็ได้ นอกจากนี้ เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินก็มักนำเสนอส่วนลดสำหรับธุรกิจเพื่อผลักดันให้ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนด หากธุรกิจทำได้ก็สามารถช่วยประหยัดเงินได้ส่วนหนึ่ง

  1. ขึ้นราคาและการตัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นออก

บางครั้งต้องเลือกที่จะสูญเสียบางอย่าง แต่ทางที่เลือกต้องสามารถสร้างเงินมากกว่าการสูญเสียเงิน นี่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด

  1. พิจารณาการจัดหาเงินทุนภายนอก

ธุรกิจอาจเจอปัญหาทางการเงินที่ชะลอตัวเป็นการชั่วคราว ซึ่งอาจเลือกวิธีการจัดหาเงินทุนภายนอกจากสินเชื่อเงินหมุนเวียน เพื่อมาแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในขณะนั้น

ข้อควรรู้ของการบริหารจัดการกระแสเงินสด

  • การถือเงินสดต้องให้เหมาะสมต่อการหมุนเวียนในวงจรปกติของธุรกิจ ไม่น้อยจนติดขัดขาดสภาพคล่อง และไม่มากจนเสียโอกาสในการเอาไปลงทุนให้งอกเงย 
  • กรณีที่กระแสเงินสดไม่เพียงพอหมุนเวียนในธุรกิจ อาจทำได้โดยเจรจาขอยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้กับซัปพลายเออร์
  • อีกวิธีการหาเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ อาจจำเป็นต้องหาเงินทุนด้วยการเพิ่มทุนจากหุ้นส่วน หรือการกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ
  • การทำพยากรณ์ วางแผน และประเมินความเสี่ยงของกระแสเงินสดทั้งรายรับ และรายจ่ายในระยะสั้นและระยะยาวจะช่วยทำให้บริหารวงจรเงินสดของธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ
  • หมั่นปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อการแข่งขันหรือลดความเสี่ยงได้ทัน
  • ต้องไม่ลืมสำรองเงินไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องมีเงินสดหรือทรัพย์สินที่ซื้อง่ายขายคล่องสำรองเตรียมพร้อมไว้เสมอ

https://www.smeone.info/posts/view/278

หัวข้อ : วารสาร K Sme Inspried อวสานธุรกิจลุยเดี่ยว เกมรบยุคใหม่แบบร่วมด้วยช่วยกันโต
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Feb-2019.aspx

เทคนิคการบริหารเงินสดให้มีสภาพคล่อง

เงินสดในมือมีความจำเป็นต้องมีไว้เพื่อเหตุผลดังนี้

      1. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ

      2. เพื่อป้องกันเงินสดขาดมือ (เปรียบเหมือนคนทั่วไปที่จะต้องมีเงินเมื่อจะต้องออกจากบ้านนั่นเอง)

      3. เพื่อสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน

      4. เพื่อไว้เก็งกำไร กรณีมีเงินสดเหลือก็เป็นโอกาสที่จะลงทุนระยะสั้นทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงได้

ส่วนที่ 1 มาจากทรัพย์สินหมุนเวียน ก็คือลูกหนี้การค้าที่ชำระเงินคืน และสินค้าคงเหลือเป็นพวกวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูปที่เราขายออกไปได้นั่นเอง

ส่วนที่ 2 มาจากหนี้สินหมุนเวียน ก็คือเจ้าหนี้การค้าที่ให้เครดิตเทอมที่มีระยะยาวขึ้น หรือมาจากการได้รับเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารหรือเจ้าหนี้อื่นๆที่ให้กู้เงิน

ส่วนที่ 3 มาจากทุนของเจ้าของ หรือจากผู้ถือหุ้น (กรณีเป็นนิติบุคคล) ซึ่งส่วนของทุนนี้มาจากการเพิ่มทุนให้กับธุรกิจเพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในมือมากขึ้น และในส่วนนี้เองจะรวมถึงกำไรจากการดำเนินงานด้วยเพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เงินสดหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตาม

เมื่อเราทราบว่าเงินสดในมือมาจากสามแหล่งนี้แล้ว เราก็ควรทราบถึงเทคนิคในการบริหารเงินสดจาก3 แหล่งนี้ด้วยเช่นกัน

8 เทคนิคในการบริหารเงินสด

1. การจัดทำงบประมาณการเงินสด (Cash budget) เพื่อป้องกันไม่ให้เงินขาดมือ การจัดทำงบประมาณเงินสดนั้นเป็นการวางแผนการใช้เงินระยะสั้นในแต่ละเดือนโดยมีวิธีการลงบันทึกเงินสดรับว่าในเดือนนี้เราจะได้รับเงินสดจากการขายหรือจากแหล่งเงินไหนเป็นจำนวนเท่าไหร่ สำหรับเงินสดจ่ายเราก็จะบันทึกว่าในเดือนนี้เรามีรายการจ่ายอะไรบ้างเช่นจ่ายค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือจ่ายหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือน เมื่อนำมาหักลบกันระหว่างเงินสดรับและเงินสดจ่าย เราก็จะทราบว่าจะมีเงินสดเหลือจำนวนเท่าไหร่ หากไม่มีเงินสดเหลือเพียงพอที่จะจ่ายได้ก็จะได้วางแผนจัดหาเงินสดมาได้ทันเวลา การจัดทำงบประมาณการเงินสดรับจ่ายนั้นจำเป็นอย่างมากสำหรับธุรกิจที่มีสภาพคล่องต่ำ มีเงินสดในมือจำนวนน้อย

2. เร่งขบวนการเก็บเงินให้เร็วขึ้น ในการดำเนินธุรกิจทั่วไปมีความจำเป็นที่ต้องให้เครดิตเทอมกับผู้ซื้อสินค้าจึงทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องหาเงินมาเพื่อหมุนเวียนในลูกหนี้การค้าด้วย ยกตัวอย่างกิจการหนึ่งมียอดขายเดือนละ 100,000 บาทหากให้เครดิตเทอมนาน 30 วันก็ต้องหาเงินสดมาใช้หมุนเวียนในลูกหนี้การค้าเพิ่มอีก 100,000 บาท หากลูกหนี้ชำระไม่ตรงตามกำหนด กิจการนั้นก็ยิ่งจำเป็นต้องหาเงินสดมาเพิ่มในส่วนที่ลูกหนี้ยังไม่ชำระอีกด้วย กรณีที่เรามีความต้องการเงินสดมากขึ้นและต้องการใช้เงินด่วนเราก็สามารถใช้กลยุทธ์การให้ส่วนลดเงินสดกับลูกหนี้การค้าได้ โดยแจ้งตั้งแต่วันซื้อว่าหากเขาจ่ายเป็นเงินสดภายใน 7 วันเราก็จะให้ส่วนลดอีกร้อยละ 2 (2% ของยอดซื้อ) ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ซื้อที่ต้องการได้รับส่วนลดก็จะซื้อเงินสดทันทีหรือชำระภายใน 7 วัน วิธีการให้ส่วนลดนี้จะช่วยให้กิจการได้เงินสดเร็วขึ้นเราจะใช้ก็เฉพาะกรณีที่ต้องการเงินสดหรือขาดเงินทุนหมุนเวียน นอกจากการให้ส่วนลดเงินสดแล้ว เราควรใช้วิธีเร่งรัดหนี้สินควบคู่ไปพร้อมกันด้วย การเร่งรัดหนี้สินควรทำทันทีที่ลูกหนี้ครบกำหนดการชำระเงินแต่ยังคงผลัดผ่อนไม่ยอมชำระ ก็จำเป็นต้องติดตามทวงถามอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังที่จะให้เครดิตเทอมแก่ลูกหนี้รายนี้ในครั้งต่อไปด้วย

3. เร่งขบวนการเคลียร์ริ่ง (Clearing process) ให้เร็วขึ้น กรณีที่กิจการได้รับเช็คล่วงหน้าหรือเป็นเช็คของสาขาต่างจังหวัดก็ควรรีบส่งไปรอเคลียร์ริ่งที่ธนาคารให้ตรงกับวันที่ของเช็คโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนั้นแล้วค่อยไปธนาคารเพราะปัจจุบันธนาคารมีบริการด้านการดูแลการเคลียร์ริ่งเช็คให้กับลูกค้าแล้ว

4. เร่งการเก็บเงินลูกหนี้ที่จ่ายด้วยบัตรเครดิต วิธีนี้กิจการต้องรีบส่งบิลไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารทันทีในวันรุ่งขึ้นที่ลูกค้ารูดบัตร นอกจากนั้นก็ควรใช้วิธีเจรจาขอลดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตด้วยเพื่อลดต้นทุนของกิจการ

5. ชะลอการจ่ายเงินสดออกให้ช้าที่สุด หากกิจการใดขาดสภาพคล่องและขาดเงินสดในมือก็มีความจำเป็นต้องพิจารณาว่ามีเจ้าหนี้รายใดที่จะสามารถเจรจาขอยืดอายุการชำระหนี้ให้ช้าลงได้ และมีรายจ่ายรายการใดที่ยังไม่จำเป็นต้องจ่ายได้บ้างก็อาจชะลอการชำระออกไปก่อน สำหรับสิ่งที่ต้องห้ามในการไม่จ่ายนั้นก็คือค่าแรง และเงินเดือนพนักงาน รวมทั้งหนี้ที่ครบกำหนดชำระของธนาคาร เพราะรายการเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อกิจการ หากพนักงานนำไปพูดภายนอกทำให้กิจการเสียเครดิตได้และยังอาจเสียพนักงานที่ทำงานดีๆไปอีกด้วย นอกจากการพิจารณาเรื่องการชะลอจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้แล้วยังมีวิธีที่บริษัทใหญ่ๆมักนิยมใช้กันนั่นก็คือวิธีการกำหนดขั้นตอนการจ่ายเงินให้กับผู้ขายสินค้าให้กับบริษัทเช่น

  • กำหนดวันวางบิลโดยกำหนดเดือนละหนึ่งถึงสองครั้ง
  • กำหนดวันรับเงินให้ห่างกับวันวางบิลซึ่งสามารถยืดระยะเวลาการชำระเงินได้อีกและยังวางแผนการหาเงินสดได้ด้วย
  • กำหนดเงื่อนไขการชำระเงินเช่นต้องมีเอกสารเพิ่มเติมนอกจากแค่ใบวางบิลเท่านั้นเพื่อเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้นทำให้การวางบิลอาจช้าลงได้

6. ควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อให้ได้เงินสดในมือที่เพิ่มขึ้น เราก็ควรวิเคราะห์รายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่ามีรายการใดที่ยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกเพื่อลดต้นทุนและยังสามารถได้เงินสดเพิ่มขึ้นได้ วิธีการลดค่าใช้จ่ายไม่ควรเกี่ยวข้องกับการลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการเด็ดขาดควรเป็นการควบคุมให้ค่าใช้จ่ายอยู่ในเกณฑ์ที่สมเหตุสมผลเท่านั้น

7. จัดหาเงินสดใช้เฉพาะส่วนที่ต้องการเท่านั้น เนื่องจากการกู้เงินที่มากเกินความจำเป็นก็ต้องรับภาระดอกเบี้ยมากขึ้นเพราะเงินที่ได้มากขึ้นก็ไม่ได้ก่อเกิดประโยชน์อะไรต้องนำมาฝากในบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสเงินสดที่ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้ที่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าด้วย

8. มีการกำหนดการเก็บเงินสดในมือที่เหมาะสม วิธีนี้เราจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลการใช้เงินในอดีตที่ผ่านมาว่าจะต้องมีเงินสดในมือจำนวนเท่าใดที่ทำให้ไม่ขาดสภาพคล่อง

เจ้าของธุรกิจและผู้จัดการฝ่ายการเงินที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหรือมีสภาพคล่องต่ำจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำงบประมาณการเงินสด (งบกระแสเงินสด) เพื่อวางแผนการจัดหาเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอ รวมทั้งการใช้เทคนิคทั้ง 8 วิธีที่ได้กล่าวมาข้างต้นในการบริหารเงินสดเพื่อให้มีต้นทุนที่ถูกด้วย

https://bsc.dip.go.th/th/category/financial-accounting/fs-cashmanagement