8 สิ่งที่ห้ามทำ ที่พ่อค้าแม่ค้าร้านโชห่วยควรรู้

แชร์ความรู้เรื่อง 8 สิ่งที่ห้ามทำ ที่พ่อค้าแม่ค้าร้านโชห่วยบางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่าหากทำแบบนี้ถือว่าผิดกฎหมายหรืออาจโดนปรับได้ ดังนั้นรู้ก่อน ก็ป้องกันได้ก่อน มีอะไรบ้างไปดูกันเลย

1. ห้ามขายบุหรี่ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

ข้อปฏิบัติตามกฎหมาย สำหรับผู้ขายบุหรี่

  • ห้ามตั้งโชว์หรือวางแสดงบุหรี่ให้ผู้ซื้อหรือประชาชนมองเห็น หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

  • ห้ามขายบุหรี่ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี *หากสงสัยอายุผู้ซื้อ ผู้ขายมีสิทธิ์ขอดูบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่ตรวจสอบอายุผู้ซื้อได้ และห้ามใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายบุหรี่ หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท

  • ห้ามแบ่งขาย ต้องขายบุหรี่ทั้งซอง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

  • ห้ามโฆษณา ขายบุหรี่ ห้ามติดป้ายแสดงชื่อ และราคาขายบุหรี่ ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ที่อาจจูงใจให้ซื้อหรือบริโภค ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 40,000 บาท และเร่ขาย ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

2. ห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ เกินเวลาที่กำหนด

  • ไม่ขายวันพระใหญ่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬบูชา เข้าพรรษา-ออกพรรษา

  • ร้านค้าสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สองช่วง คือ ช่วงกลางวัน เวลา 11.00-14.00 น. ช่วงเย็น เวลา 17.00-24.00 น.

  • ไม่ส่งเสริมการขาย โดยการลดราคา แจก แถม ชิงรางวัล หรือจับฉลากให้หรือแลกกับสินค้าอื่น ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคล ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ห้ามจำหน่ายตาชั่ง ตวง วัด หากไม่มีใบอนุญาต

ในการจะจำหน่ายเครื่องชั่ง ตวงวัด จะต้องทำการขอหนังสือประกอบธุรกิจ จากสำนักชั่งตวงวัด ศูนย์ชั่งตวงวัด หรือสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดเขต ที่มีอำนาจในจังหวัดที่สถานที่ประกอบธุรกิจตั้งอยู่ หากจําหน่ายโดยไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท มาตรา ๖๘ ผู้ใดประกอบธุรกิจตามมาตรา ๑๗ โดยไม่มีหนังสือรับรองการประกอบ ธุรกิจ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

4. ห้ามจำหน่ายยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน

ยาอันตรายที่ห้ามจำหน่ายในร้านของชำ หากขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

  • ยาปฏิชีวนะ / ยาแก้อักเสบ

  • ยาแก้ปวด

  • ยาหยุดถ่าย

  • ยาฆ่าพยาธิ

  • ยาควบคุมพิเศษ

ยาสามัญประจำบ้าน ที่จำหน่ายได้

  • กลุ่มยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ – ยาเม็ดหรือยาน้ำลดกรดอะลูมินาแมกซีเนีย / ยาธาตุน้ำแดง / ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ / ยาผงฟู่แก้ท้องอืด / ยาเม็ดหรือยาน้ำบรรเทาอาการเนื่องจากกรดไหลย้อน

  • กลุ่มยาแก้ท้องเสีย – ยาแก้ท้องเสียผงน้ำตาลเกลือแร่ / ยาผงถ่านรักษาอาการท้องเสีย

  • กลุ่มยาระบาย – ยาระบายแมกนีเซีย / ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ ชิดสวนทวาร

  • กลุ่มยาบรรเทาอาการปวกกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย – ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง

  • กลุ่มยาแก้แพ้ลดน้ำมูก – ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน

  • กลุ่มยาแก้ไอขับเสมหะ – ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะ / ยาแก้ไอน้ำดำ

  • กลุ่มยา ยาดมหรือ ทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก – ยาดมแก้คัดจมูก / ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูก ชนิดขี้ผึ้ง

  • กลุ่มยาแก้เมารถ เมาเรือ – ยาเม็ดไดเมนไฮดริเนท

  • กลุ่มยาสำหรับโรคปาก และลำคอ – ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ

  • กลุ่มยาสำหรับโรคผิวหนัง – ยารักษาหิดเหา / ยาทาแก้ผดผื่นตันคาลาไมน์

  • กลุ่มยาใส่แผล ล้างแผล – ยาทิงเจอร์ไอโอดีน / แอลกอฮอล์ล้างแผล / น้ำเกลือล้างแผล

  • กลุ่มยาบำรุงร่างกาย – ยาเม็ดวิตามันซี / ยาเม็ดวิตามินรวม

  • กลุ่มยาบรรเทาปวดลดไข้ – ยาเม็ดพาราเซตามอล / พลาสเตอร์ติดบรรเทาอาการแก้ปวด

5. ห้ามจำหน่ายสินค้าไม่มี อย. มอก.

เครื่องหมาย อย. หมายถึงผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้การผ่านเกณฑ์การตรวจสอบจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับ 6 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และวัตถุเสพติดที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เครื่องหมาย มอก. คืออะไร ?

มอก. ย่อมาจากคำว่า ‘มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม’ หมายถึง ข้อกำหนดทางวิชาการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุดครอบคลุมสินค้า ได้แก่ สินค้าอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ สิ่งทอ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น หากจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่าน มอก. มีโทษจำคุก 1 เดือน ปรับสูงถึง 50,000 บาท

6. ห้ามจำหน่ายน้ำมันขวดแบ่งขาย เกินปริมาณกำหนด

ร้านจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรายย่อย เป็นกิจการที่สามารถประกอบได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มีหลักเกณฑ์ ดังนี้ร้านค้าที่หรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดสามารถจัดเก็บได้ปริมาณไม่เกินที่กำหนด

  • น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ฯลฯ ร้านค้าจัดเก็บเพื่อจำหน่ายได้ไม่เกิน 40 ลิตร

  • น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟปานกลาง ได้แก่ น้ำมันก๊าด น้ำมันเชื้อเพลิง ร้านค้าจัดเก็บเพื่อจำหน่ายได้ไม่เกิน 227 ลิตร

  • น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟน้อย ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ ร้านค้าจัดเก็บเพื่อจำหน่ายได้ไม่เกิน 454 ลิตร

7. ห้ามจำหน่ายสินค้าหนีภาษี

ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปซื้อ รับจำนำ หรือรับของไว้ ซึ่งรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรตามมาตรา 243 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ครึ่งเท่า แต่ไม่เกิน 4 เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ

8. ห้ามจำหน่ายน้ำหอมขวดแก้วที่ไม่มีฉลาก

การจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางปลอม เช่น น้ำหอมขวดแก้วที่ไม่มีฉลาก แล้วแปะสติ๊กเกอร์แบรนด์ดัง การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของแบรนด์นั้น จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

การเป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องดูแลร้านค้ามีสิ่งที่ต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และข้อที่ควรระวัง หากไม่อยากโดนจับ หรือ โดนปรับกัน หวังว่าพ่อค้าแม่ค้าที่อ่านบทความนี้จะได้ความรู้ที่นำไปใช้ในการดูแลร้านค้าและระวังไม่ให้ทำผิดกฎหมายโดยที่ไม่รู้ตัวกัน

ที่มา สมาคมการค้ายาสูบไทย