ถ่ายรูปลูกค้าลงเพจร้านค้า ผิดกฎหมาย PDPA หรือไม่?

หลังจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ กฎหมาย PDPA เริ่มบังคับใช้ พ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ประกอบการต่างๆควรทราบและศึกษาไว้ก่อน เพราะหากเราเผลอละเมิดทำผิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว อาจจะถึงมีคดีความฟ้องร้องเกิดขึ้นได้ วันนี้น้องบีพลัสจะพาไปรู้จักกับกฎหมาย PDPA กัน

กฎหมาย PDPA คืออะไร 

กฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act) คือกฎหมายควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่ทางภาคเอกชนและภาครัฐจะเก็บรวบรวมข้อมูลของเจ้าของข้อมูลเอาไว้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว ซึ่งก่อนที่ภาคเอกชนและภาครัฐจะเก็บข้อมูลในส่วนนั้นได้ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน หากเจ้าของข้อมูลไม่สะดวกใจ รู้สึกไม่ปลอดภัยต่อการเก็บข้อมูลครั้งนั้นสามารถปฏิเสธได้ ซึ่งในส่วนของเจ้าของข้อมูล เมื่อถูกเก็บข้อมูลไปแล้ว มีสิทธิ์กระทำการต่างๆ ดังนี้

  • สิทธิ์ในการรับแจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดต่างๆ
  • สิทธิ์ในการขอระงับใช้ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ
  • สิทธิ์ในการแก้ไขข้อมูลส่วนตัว
  • สิทธิ์ในการยกเลิกการให้ข้อมูลส่วนตัว
  • สิทธิ์ในการเข้าถึงสำเนาของข้อมูลส่วนตัว
  • สิทธิ์ในการไม่ยินยอมให้เก็บข้อมูล ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว
  • สิทธิ์ในการขอลบหรือทำลายข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเก็บไป

อะไรบ้างที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล PDPA

ประเภทของข้อมูลส่วนบุคคลหลักๆจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ 1.ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปและ 2.ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว

1.ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป

  • ชื่อ-นามสกุล 
  • เบอร์โทรศัพท์ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ปัจจุบัน
  • เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขใบอนุญาตขับขี่ 
  • ข้อมูลทางการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์
  • ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน
  • วันเดือนปีเกิด สัญชาติ น้ำหนักส่วนสูง
  • ข้อมูลบนอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น Username /password,  Cookies IP address,  GPS Location

2.ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว

  • เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ 
  • ความคิดเห็นทางการเมือง 
  • ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา
  • พฤติกรรมทางเพศ
  • ประวัติอาชญากรรม 
  • ข้อมูลด้านสุขภาพ ความพิการ เช่น โรคประจำตัว การฉีดวัคซีน ใบรับรองแพทย์
  • ข้อมูลสหภาพแรงงาน
  • ข้อมูลพันธุกรรม
  • ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ แบบจำลองใบหน้า ข้อมูลม่านตา

หากร้านค้าถ่ายรูปรีวิวสินค้าแล้วติดหน้าคนอื่นจะผิดกฎหมาย PDPA ไหม?

หากคุณสงสัยว่าทำไมการถ่ายรูปถึงมีเอี่ยวในกฎหมาย PDPA ด้วย หรือทำไมการถ่ายรูปติดคนอื่นถึงผิดกฎหมาย คำตอบคือรูปถ่ายเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่สามารถสืบค้นไปยังตัวตนของผู้อื่นได้ ดังนั้นหากมีการถ่ายติดหน้าลูกค้า และร้านค้าได้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ จึงควรมีการขออนุญาตบุคคลในภาพพร้อมปิดบังใบหน้าก่อนโพสต์ลงโซเชียลมีเดียก่อนเสมอ

ที่มา เงินติดล้อ และ easypdpa.com