9 Trends ที่จะทำให้รูปแบบการทำงานตั้งแต่ปี 2021 เปลี่ยนไป

 

คุณ Brian Kropp Chief of Research จากบริษัท Gardner HR Practice ได้ทำการคาดคะเนถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์ในการทำงานของประชากรบนโลกตั้งแต่ปี 2020 จนก้าวผ่านเข้ามาในปี 2021 โดยมองว่ารูปแบบในการทำงานของปีนี้นั้นคงไม่ได้ราบเรียบและน่าจะเต็มไปด้วยความท้าทายที่สะสมมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และปัจจัยอีกประการที่สำคัญยิ่งคือการพยายามเอาชนะขีดจำกัดของวัคซีนทั้งในแง่การทดสอบประสิทธิภาพ การผลิต การจัดสรร ขนส่ง รวมไปถึงการถ่ายทอดความรู้ในการผลิต ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก และเป็นปัจจัยภายนอกที่กำหนดสภาพแวดล้อมและการตัดสินใจในการทำงานมาตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านไป ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2021 และต่อเนื่องไปนั้น เขาคาดการณ์ไว้ดังนี้

 

1. คำว่า Employee Experience จะเปลี่ยนเป็น Life Experience

ในช่วงปีที่ผ่านมา พนักงานในหลายๆ องค์กรได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำงานที่เปลี่ยนไป บางคนต้องเอางานกลับไปทำที่บ้าน เนื่องจากสำนักงานปิด แล้วยังจะต้องแบ่งสรรพื้นที่ในการทำงานกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสที่อาจจะต้องนำงานมาทำข้างๆ กัน หรือบุตรหลานที่ต้องทำการเรียนหนังสือแบบออนไลน์ การที่ชีวิตโดนเบียดเบียนจากพื้นที่ทำงานทำให้ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของหลายๆ คนต้องเจ็บปวดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเครียดสะสมจากการทำงานเข้ามารบกวนพื้นที่ส่วนตัวจนแทบจะกลายเป็นก้อนเดียวกัน จากการสำรวจของ Gartner พบว่า นายจ้างที่สามารถออกแบบการดูแลที่มุ่งแก้ปัญหาชีวิตของพนักงานนั้น ทำให้สุขภาพจิตของพนักงานดีขึ้นถึง 23% และสุขภาพกายดีขึ้น 17% นั่นเป็นเหตุผลที่เราสามารถจะเชื่อได้ว่าปี 2021 นี้ปัจจัยการออกแบบการดูแลชีวิตของพนักงานในระหว่างต้องทำงานจากที่บ้านนั้นจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่จะรักษาคนในองค์กรเอาไว้นั่นเอง

 

2. พนักงานจับตามองการสนับสนุนกระแสทางสังคมของบริษัท

ปี 2020 เป็นปีที่กระแสสังคมเรียกได้ว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกคน เรื่องราวการชุมนุมจากซีกโลกหนึ่งมากระทบอีกซีกโลกหนึ่งอย่างรวดเร็ว ประชาคมโลกต่างร่วมใจกันออกมาสนับสนุนสิทธิต่างๆ ที่เป็นกระแสใน social networks และประการสำคัญคือ สิ่งที่เรียกว่า Cancel Culture ที่กำลังมาแรงในโลกออนไลน์ หรือที่เรารู้จักกันในนามของการแบน หรือเลือกใช้สินค้าและบริการของบริษัทต่างๆ ที่มีท่าที่สนับสนุนความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน พนักงานหลายคนเริ่มมีการพูดถึงการที่บริษัทอาจจะต้องมีท่าที่ต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไม่โอนเอน ผลการสำเร็จของ Gartner พบว่า ค่า engagement ของพนักงานในองค์กรที่แนวความคิดด้านสังคมของบริษัทหากสอดคล้องกับความคิดของตนเองนั้น จะทำให้เพิ่มสูงขึ้นถึง 60%

 

3. ความท้าทายของการออกแบบค่าจ้างใน Hybrid Workplace

หลังจากการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสแล้ว หลายๆ องค์กรเริ่มคิดถึงเรื่องการเตรียมความพร้อมในการกลับเข้าทำงานแบบปกติ ในขณะที่อีกหลายองค์กรก็ใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบลูกผสมเลย กล่าวคือ จะมีพนักงานทั้งที่ต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ และพนักงานที่จะสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ในขณะเดียวกันคำถามเรื่องการออกแบบค่าจ้างและผลตอบแทนระหว่างคนสองกลุ่มนี้ก็กำลังจะกลายเป็นประเด็นขึ้นมาอย่างช้าๆ เนื่องจากผลการสำรวจพบว่า โดยปกติคนเราจะคิดว่า remote worker นั้นควรจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าพนักงานที่เข้ามาทำงานในสำนักงาน แต่ในขณะที่ตัวเลขค่าจ้างกลับให้ผลที่ตรงกันข้าม โดยเฉพาะ talent ที่เป็น remote worker นั้นได้เงินมากกว่าราวๆ 5%

 

4. ความสร้างสมดุลในการติดตามพนักงาน (Track and Monitoring)

คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลายๆ บริษัทในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ทำการสร้าง หรือทดสอบใช้แอพพลิเคชั่นหลายๆ แบบเพื่อสอบถามถึงความปลอดภัยของพนักงาน เช่น การให้พนักงาน check in ตอนเช้า หรือพยายามให้ลงโปรแกรมติดตามตัวเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการติดโรคระบาด อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่พฤติกรรมดังกล่าวเริ่มกลายเป็น new normal ภาครัฐก็จะเริ่มมีการออกกติกามาควบคุมเรื่องดังกล่าวไม่ให้เกินขอบเขตความจำเป็น

 

5. คำว่า “ยืดหยุ่น” จะกลายเป็นเรื่องของเวลามากกว่าสถานที่

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นการเริ่มต้นการที่มนุษย์หลายๆ คนคุ้นเคยกับการทำงานจากที่บ้าน และกำลังจะกลายเป็นกระแสของสภาพการทำงานแบบใหม่ ดังนั้นในปี 2021 สิ่งที่จะกลายเป็นผลกระทบต่อเนื่องคือเรื่องของระยะเวลาในการทำงาน ผลการศึกษาของ Gartner พบว่าพนักงานที่ได้รับอนุญาตให้มีความยืดหยุ่นของเวลาในการทำงานนั้นส่งผลให้เกิดความสามารถในการทำงานที่สูงขื้นเป็นจำนวน 55%

 

6. วัคซีนจะกลายเป็นสวัสดิการของบริษัทชั้นนำ

ในยุคสมัยที่โรคระบาดกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนใส่ใจมากขึ้นนั้น การให้สวัสดิการเรื่องการฉีดวัคซีนจะกลายเป็นเครื่องมือในการสรรหาและรักษาคนเก่งขององค์กรเอาไว้เมื่อเทียบกับตลาด ในขณะเดียวกันเราอาจจะได้เห็นการกำหนดเงื่อนไขในการจ้างงานแบบแปลกๆ เช่น ขอตรวจผลการรับวัคซีนก่อนเข้างาน เป็นต้น

 

7. การรักษาพยาบาลจะรวมไปถึงการรักษาสุขภาพจิตใจ

ผลกระทบโดยตรงของการทำงานจากที่บ้านนั้นดังที่กล่าวไว้ข้างต้นจะได้รับแรงที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของพนักงานในวงกว้าง คำว่า well-being หรืออยู่ดีกินดีของพนักงาน จะไม่ได้หมายถึงสุขภาพกายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะหมายถึงสุขภาพใจด้วย ความเครียดของการถูก lockdown และ social distancing จะส่งผลให้เกิดภาวะความเครียดมากขึ้น และสะสมรวมกับการทำงานอย่างต่อเนื่อง หลายๆ องค์กรเริ่มนำกระบวนการที่เรียกว่า mindfulness เช่น การนั่งสมาธิในช่วงสั้นๆ ก่อนการทำงาน หรือการกำหนดลมหายใจพร้อมกับเปิดเพลงที่ผ่อนคลาย โดยพนักงานสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมาเบิกบริษัทได้

 

8. การ “เช่า” Talent จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การปิด skills gap ขององค์กรในช่วงที่ต้องการ reskill ต่อเนื่องจาก disruption นั้นถือเป็นเรื่องท้าทาย และแข่งกับเวลา ดังนั้นหากเราไม่สามารถสร้าง หรือ upskill ได้ทัน การเช่า หรือยืม talent จากภายนอกเป็นการชั่วคราวจึงเริ่มเป็นทางออกของหลายองค์กร

 

9. เมืองในประเทศต่างๆ จะเตรียมการเพื่อดึงดูดให้องค์กรมาตั้งบริษัทในเขตของตน

ในเมื่อการทำงานในยุคใหม่จะเปลี่ยนไปเป็น remote work มากขึ้น ในอนาคตเราจะได้เห็นการแข่งขันกันระหว่างเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกในการเตรียมสร้างแรงดึงดูดของนักลงทุนให้ไปตั้งบริษัทในเขตของตัวเองมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการลงทุนที่ซบเซา และเพื่อสร้างเม็ดเงินลงทุนในระยะยาว

 

ที่มา เพจ PMAT - Personnel Management Association of Thailand