รวมเรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

"ค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี กับ ค่าใช้จ่ายในชีวิตจริง"

ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ค่าใช้จ่ายที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้มีเงินได้ใช้ในการคำนวณภาษี โดยกำหนดไว้ 2 วิธี ได้แก่ 

  • วิธีหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 
  • วิธีหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร (ตามจริง) 

 

ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกว่า “วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ” 

เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ จากนั้น เงินได้สุทธิ × อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

 

บุคคลธรรมดาหักค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง

          การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากฎหมายกำหนดให้เงินได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายออกก่อน แล้วจึงนำเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปหักลดหย่อน เพื่อให้ได้เงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 เงินพึงประเมินที่จะนำมาคำนวณภาษีแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ตามมาตรา 40(1) - 40(8) ซึ่งเงินได้แต่ละประเภทก็จะมีการหักค่าใช้จ่ายในอัตราที่แตกต่างกัน ผู้มีเงินได้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1 : การหักค่าใช้จ่ายเหมา ที่กำหนดไว้เป็นอัตราร้อยละ ตามที่กฎหมายกำหนด

แบบที่ 2 : การหักค่าใช้จ่าย ตามความจำเป็น และสมควร

 

เงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้เท่าใด

ค่าใช้จ่ายเป็นองค์ประกอบในการคำนวณภาษีของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับหักเป็นต้นทุนในการทำงาน เพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธิมาคิดภาษีตามอัตราภาษี 

 

          ทางเลือกในการหักค่าใช้จ่ายอยู่ 4 วิธี สำหรับ  เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท ได้แก่ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้อย่างเดียว เลือกได้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายเหมาหรือจริง หักค่าใช้จ่ายจริงได้อย่างเดียว และ ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งแต่ละประเภทมีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้ครับ

กรณีที่ 1 

เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้อย่างเดียว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งหักเหมาแบบมีเพดานสูงสุดและมีอัตราเดียว คือ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และถ้าหากเรามีเงินได้ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ก็จะสามารถหักรวมกันได้สูงสุด คือ 50% ไม่เกิน 100,000 บาทอยู่ดีครับ

กรณีที่ 2 

สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ระหว่างเหมาหรือจริง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 3, 5 – 8 ต่อไปนี้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้ หรือสามารถเลือกหักเหมาในอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้ครับ

  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 3 เฉพาะค่ากู้ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์ หรือ ค่าสิทธิ์อย่างอื่น เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตรา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 5 สามารถเลือกหักแบบเหมาได้ในอัตรา 10-30% ขึ้นอยู่กับประเภททรัพย์สินที่ให้เช่า โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
    • บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ ยานพาหนะ หักได้ 30%
    • ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร หักได้ 20%
    • ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร หักได้ 15%
    • ทรัพย์สินอื่น หักได้ 10%
  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 6 สามารถเลือกหักแบบเหมาได้ 30% ยกเว้นกรณีประกอบโรคศิลป์ สามารถหักได้ 60%
  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 7 สามารถเลือกหักแบบเหมาได้ 60%
  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 8 สามารถเลือกหักเหมาได้ 60% เฉพาะกลุ่มที่กฎหมายกำหนดไว้ 43 ประเภท เท่านั้น (มาตรา 8 แห่ง พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 11)

กรณีที่ 3 

เลือกหักค่าใช้จ่ายจริงได้อย่างเดียว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 8 กลุ่มที่ไม่เข้าเงื่อนไข 43 ประเภทที่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ แบบนี้ต้องหักค่าใช้จ่ายจริงเพียงอย่างเดียวครับ เช่น ตัวแทนประกันชีวิต การขายของบางอย่างที่มีขั้นตอนการผลิตด้วยตัวเอง

กรณีที่ 4

ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เลย ได้แก่ เงินได้ประเภทที่ 3 (ส่วนที่นอกเหนือจากค่าสิทธิ์และกู้ดวิลล์) และ เงินได้ประเภทที่ 4 ทุกประเภท

 

          กรมสรรพากรได้ออกแนวทางคร่าวๆ เกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ 4 ข้อดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายที่จะมาใช้นั้นต้องเป็นค่าใช้จ่ายตามปกติ และเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจหรือประเภทเงินได้ที่ได้มา เช่น ถ้าหากทำธุรกิจให้เช่าห้องพัก แต่ขอหักค่าใช้จ่ายในการจ้างพริตตี้ แบบนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกัน หรือ ธุรกิจเรามีแต่รายจ่ายส่วนตัว พวกค่าท่องเที่ยว ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน ที่ไม่เกี่ยวข้องมาใช้ในการหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี แบบนี้จะมีปัญหาในภายหลังได้

2. มีจำนวนที่สมควรและเหมาะสมกับกิจการ คือ ต้องบอกว่าทำธุรกิจหรือมีรายได้ในกลุ่มนี้ สิ่งที่ทุกคนต้องการคือกำไร ดังนั้นถ้าหากมันมากเกินไปก็จะเป็นปัญหาได้เช่นกัน จึงมีเงื่อนไขข้อนี้มาป้องกันไว้ ไม่ให้มีค่าใช้จ่ายที่มากเกินจำเป็น

3. ไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย การเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือที่กฎหมายเรียกว่าตามจำเป็นและสมควรนั้น ยังคงต้องอ้างอิงค่าใช้จ่ายตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี ไว้อยู่ ดังนั้นเราต้องรู้ข้อมูลส่วนนี้ และไม่ทำผิดหลักการของกฎหมายส่วนนี้ด้วย

4. ต้องมีหลักฐานให้ตรวจสอบได้ หลักฐานเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายจริงต้องเตรียมให้พร้อม เพราะเมื่อไรก็ตามพี่สรรพากรสงสัยข้อมูล เขาสามารถมาตรวจสอบเราได้ ดังนั้นอย่าเอามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายโดยที่ไม่มีหลักฐานเพราะจะมีปัญหาตามมาได้

 

 

ที่มา tax bugnoms