Inventory Turnovers Ratio

รู้จัก Inventory Turnovers คืออะไร ช่วยให้บริษัทสามารถตัดสินใจแม่นยำขึ้นได้อย่างไร

Inventory Turnovers Ratio คืออะไร

Inventory Turnovers Ratio หรือ อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ เป็นอัตราส่วนที่จะวัดความสามารถในการขายสินค้าคงเหลือโดยวัดจากการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือในช่วงเวลาที่กำหนดเพื่อที่บริษัทจะได้คำนวณว่าต้องใช้เวลากี่วันในการขายสินค้าอีกทั้งยังช่วยให้บริษัทสามารถตัดสินใจในเรื่องราคา การผลิต การตลาดและการซื้อสินค้าคงคลังในรอบต่อไปได้ดีขึ้น

วิธีการคำนวณ Inventory Turnovers Ratio

การคำนวณ อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ จะต้องใช้ข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมักจะใช้เป็นปีและค่าที่ออกมาจะมีหน่วยเป็นเท่า

Inventory Turnover Ratio

  • ต้นทุนขาย (COGS : Cost of goods sold) หมายถึง ต้นทุนที่ต้องใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการของบริษัท เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น
  • สินค้าคงเหลือเฉลี่ย (Average Value of Inventory) หมายถึง สินค้าคงเหลือของบริษัทโดยเฉลี่ยทั้งปีคิดจากสินค้าคงเหลือต้นงวดรวมกับสินค้าคงเหลือปลายงวดแล้วหารด้วยสอง

วิธีการดูค่าของ Inventory Turnovers Ratio

  • Inventory Turnovers มาก หมายถึง บริษัทมีความสามารถในการขายสินค้าคงเหลือสูงหรืออาจบ่งบอกได้ว่ามีสินค้าคงเหลือน้อย จะเป็นการช่วยลดจำนวนเงินทุนที่ผูกไว้กับสินค้าคงเหลือ ซึ่งจะช่วยรักษาสภาพคล่องให้กับบริษัทอีกทั้งยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการเน่าเสีย ความเสียหาย การโจรกรรม หรือความล้าสมัยทางเทคโนโลยีของสินค้าอีกด้วย
  • Inventory Turnovers น้อย หมายถึง บริษัทมีความสามารถในการขายสินค้าคงเหลือต่ำหรืออาจบ่งบอกได้ว่ามีสินค้าคงเหลือจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสภาพคล่องของบริษัทรวมไปถึงมีความเสี่ยงจากการเสื่อมถอยของสินค้าอีกด้วย

Inventory Turnovers Ratio สูงหรือต่ำถึงจะดี ?

ยิ่งมีค่าที่สูงยิ่งดี

Tips : โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมที่สินค้าที่มีต้นทุนและราคาของสินค้าค่อนข้างต่ำ จะมีค่า Inventory Turnovers Ratio ที่ค่อนข้างสูงเพราะมีการผลิตสินค้าออกมาในปริมาณมาก

Tips : แต่การมีค่าของ Inventory Turnover Ratio ที่สูงก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป เพราะ การมีสินค้าคงเหลือจำนวนมากก็อาจจะส่งผลดีกว่าในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อทางบริษัทคาดการณ์ว่าจะเกิดการสภาวะขาดแคลน การมีสินค้าคงเหลือจำนวนมากก็สามารถช่วยให้บริษัทอยู่รอดต่อไปได้

Tips : โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมที่สินค้าที่มีต้นทุนและราคาของสินค้าค่อนข้างสูง จะมีค่า Inventory Turnovers Ratio ที่ค่อนข้างต่ำ เพราะ ด้วยราคาสินค้าที่สูง ส่งผลให้ลูกค้ามักจะใช้เวลาในการตัดสินใจในการซื้อ ทำให้อาจจะมีสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมาก

แต่การจะดูว่าค่าของ Inventory Turnovers Ratio ดีจริงหรือไม่ ต้องนำค่าไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อเปรียบเทียบว่ามีค่าที่สูงหรือต่ำกว่าบริษัทคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ยกตัวอย่างการใช้ Inventory Turnovers Ratio จากสถานการณ์จริง

ยกตัวอย่างการอ่านค่า Inventory Turnovers Ratio ตั้งแต่ปี 2017 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2021 ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

ตัวอย่างจริง Inventory Turnovers

  • ปี 2017 ค่าของ Inventory Turnovers เท่ากับ 13.54 เท่า หมายความว่า บริษัทมีต้นทุนขายมากกว่าสินค้าคงเหลือเฉลี่ยอยู่ 13.54 เท่า
  • ปี 2018 ค่าของ Inventory Turnovers เท่ากับ 13.88 เท่า หมายความว่า บริษัทมีต้นทุนขายมากกว่าสินค้าคงเหลือเฉลี่ยอยู่ 13.88 เท่า
  • ปี 2019 ค่าของ Inventory Turnovers เท่ากับ 13.94 เท่า หมายความว่า บริษัทมีต้นทุนขายมากกว่าสินค้าคงเหลือเฉลี่ยอยู่ 13.94 เท่า
  • ปี 2020 ค่าของ Inventory Turnovers เท่ากับ 12.98 เท่า หมายความว่า บริษัทมีต้นทุนขายมากกว่าสินค้าคงเหลือเฉลี่ยอยู่ 12.98 เท่า
  • จึงสามารถสรุปข้อมูลตั้งแต่ปี 2017 – 2020 ได้ดังนี้
    ค่าของอัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ ในปีแรกมีค่าอยู่ที่ 13.54 เท่า และค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสองปีถัดไปเป็น 13.88 และ 13.94 เท่า แสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นมีประสิทธิภาพในการขายสินค้าคงเหลือที่ดีขึ้น แต่กลับมามีประสิทธิภาพที่แย่ลงค่อนข้างมากในปีสุดท้ายโดยมีค่าอยู่ที่ 12.98 เท่า
  • โดยทางบริษัทสามารถนำค่าอัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือไปใช้ได้ เช่น ในปี 2020 บริษัทมีค่า Inventory Turnovers อยู่ 12.98 เท่า ให้ทำการตั้งจำนวนวันในหนึ่งปีหรือ 365 วันหารด้วย 12.98 จะได้ประมาณ 28.12 วัน แสดงว่าบริษัทต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ย 28.12 วันในการขายสินค้าคงเหลือทั้งหมด

การสรุปผลนี้เป็นเพียงการเปรียบเทียบอัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือผ่านข้อมูลในอดีตของบริษัทเท่านั้น แต่หากต้องการทราบว่าค่า Inventory Turnovers ของบริษัทมีประสิทธิภาพจริงมั้ย เราควรที่จะนำค่าไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อหาค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้น ๆ แล้วค่อยเปรียบเทียบว่ามีค่าที่สูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจึงจะสามารถบอกได้ว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าคงเหลือจริงหรือไม่

ที่มา  knowledge.bualuang.co.th