มาทำความรู้จักกับ ภ.ง.ด.51

รวมคำถามเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการ "ภ.ง.ด.51"

คำถาม : บุคคลธรรมดาจะต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภง.ด.51 หรือไม่

คำตอบ : แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 กำหนดให้นิติบุคคลที่รอบระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือนมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ

คำถาม : ใครมีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51

คำตอบ : 1.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ และ 2. บริษัทจดทะเบียนธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์

คำถาม : สามารถยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ต่างท้องที่ได้หรือไม่

คำตอบ : การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51 สามารถยื่นแบบฯ ได้ที่สนง.สรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของนิติบุคคลนั้น หรือยื่นแบบฯ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ www.rd.go.th

คำถาม : การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาต้องแนบเอกสารหรือไม่

คำตอบ : ไม่ต้องแนบเอกสาร เว้นแต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 128) ซึ่งเสียภาษีจากกำไรสุทธิจริง จะต้องแนบงบแสดงสถานะทางการเงินและหนังสือของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

คำถาม : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หากมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มสามารถผ่อนชำระได้หรือไม่

คำตอบ : ไม่ได้ ต้องชำระทั้งจำนวนในคราวเดียว

คำถาม : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หากมีภาษีที่ชำระไว้เกินสามารถขอคืนได้หรือไม่

คำตอบ : การยื่นแบบแสดงรายการ ภง.ด.51 มีภาษีที่ชำระไว้เกินหรือได้ชำระภาษีไว้ ให้ขอคืนหรือให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระปลายปี

คำถาม : บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 โดยรอบระยะเวลาบัญชีแรกไม่ถึง 12 เดือน ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หรือไม่

คำตอบ : ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภง.ด.51 เนื่องจากรอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน

คำถาม : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ต้องแนบหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายด้วยหรือไม่

คำตอบ : ไม่ต้องแนบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

คำถาม : บริษัทยื่นแบบแสดงรายการ ภง.ด.51 โดยประมาณกำไรสุทธิไว้สูงไปบริษัทต้องรับผิดเงินเพิ่มหรือไม่

คำตอบ : ไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่ม

คำถาม : แบบแสดงรายการ ภง.ด.51 ต้องใส่ชื่อผู้สอบบัญชีหรือไม่

คำตอบ : การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 แยกเป็น 2 กรณี ดังนี้คือ

  1. ใส่ชื่อผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 โดยคำนวณและชำระภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
  2. ไม่ต้องใส่ชื่อผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 โดยคำนวณและชำระภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ

คำถาม : การยื่นแบบแสดงรายการ ภง.ด.51 หากประมาณการกำไรสุทธิไว้ต่ำไปมีความผิดหรือไม่

คำตอบ : หากการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ

คำถาม : บริษัทยื่นประมาณการกำไรสุทธิตามแบบแสดงรายการ ภง.ด.51 ขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 บริษัทจะยื่นแบบฯ เพิ่มเติมต้องเสียเงินเพิ่มอย่างไร

คำตอบ : ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีที่ชำระขาดหากบริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ โดยไม่ได้รับ คำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวน โดยตรงเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่มได้ แต่ต้องเสียในอัตราและตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • (ก) ถ้าชำระภายใน 2 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.10 ของเงินภาษี ที่ต้องชำระ
  • (ข) ถ้าชำระภายหลัง 2 วัน แต่ไม่เกิน 3 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.50 ของเงินภาษีที่ต้องชำระ

คำถาม : มูลนิธิหรือสมาคม ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หรือไม่

คำตอบ : มูลนิธิหรือสมาคม ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เนื่องจากมูลนิธิ/สมาคม เสียภาษีเงินได้จากยอดรายรับ จึงไม่ต้องประมาณการกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ 

คำถาม : กิจการร่วมค้า ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หรือไม่

คำตอบ : กิจการร่วมค้าถือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ด้วย

คำถาม : ยื่นแบบแสดงรายการ ภง.ด.51 โดยกรอกรายการจำนวนเงินผิดทุกรายการ เนื่องจากนำข้อมูลของบริษัหอื่นมากรอก และไม่มีภาษีต้องชำระจะต้องปรับปรุงรายการอย่างไร

คำตอบ : ให้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติม โดยกรอกรายการต่างๆ ด้วยตัวเลขที่ถูกต้องและครบถ้วนทุกรายการ

คำถาม : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ผ่านอินเทอร์เน็ต หากมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม จะชำระผ่านธนาคารช่องทางใดได้บ้าง

คำตอบ : หากได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด .51 ผ่านอินเทอร์เน็ต และมีภาษีต้องชำระเพิ่ม สามารถเลือกช่องทางธนาคาร สามารถเลือกช่องทางการชำระภาษี เช่น e-payment, Internet Banking และ เคาน์เตอร์ธนาคาร

คำถาม : ยื่นแบบแสดงรายการ ภง.ด.51 เกินกำหนด ต้องรับผิดอย่างไรบ้าง

คำตอบ : กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เกินกำหนดเวลาต้องรับผิด

  1. ค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด
  2. กรณีมีภาษีต้องชำระ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ ทั้งนี้หากเป็นกรณีที่ผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบโดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่ม ให้เสียอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงิน ภาษีที่ต้องชำระ แต่ไม่เกินเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด

คำถาม : กำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลา 1 ม.ค. -31 ธ.ค. เมื่อใด

คำตอบ : ภายในวันที่ 8 ก.ย. 2565

คำถาม : หากยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ผ่านอินเทอร์เน็ต คำนวณแล้วมีภาษีต้องชำระเพิ่มจำนวน xx,xxx.50 หรือ .25 บาท ทำไมในใป pay-in slip จึงไม่มีเศษสตางค์

คำตอบ : ในการชำระภาษีสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล หากคำนวณภาษีแล้วมีเศษสตางค์ เมื่อชำระภาษีจะได้รับยกเว้นเศษของบาท ตามมาตรา 5 ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) ดังนั้น การชำระจึงไม่ต้องชำระเศษสตางค์

คำถาม : หากยื่นแบบแสดงรายการ ภง.ด.51 ประมาณการไว้มีกำไรสุทธิ 1 ล้านบาท แต่ผลการประกอบกิจการเมื่อสิ้นปี ปรากฏว่ากิจการขาดทุน 2 ล้านบาท บริษัทต้องเสียเงินเพิ่มหรือไม่

คำตอบ : การประมาณการว่าจะมีกำไรสุทธิ แต่เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ปรากฎว่าขาดทุน จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม

ที่มา เพจ บัญชีภาษี กี่ปีก็ไม่เข้าใจ