การขายสินค้าออนไลน์ผ่าน Platfrom ภาษีดีอย่างไร

             การประกอบธุรกิจในปัจจุบันช่องทางในการขายสินค้าที่เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมาก ได้แก่ การขายสินค้าออนไลน์ซึ่งรูปแบบในการขายสินค้ามีทั้งรูปแบบที่ขายโดยช่องทางแพลตฟอร์ม (Platform) ของเจ้าของสินค้าเองและขายผ่าน Platform ซึ่งเจ้าของ Platform ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้านำสินค้าของตนเองมาวางขายใน Platform ของตนเองโดยเจ้าของ Platform จะเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการจากเจ้าของสินค้าตามอัตราและจํานวนที่ตกลงกันโดยผู้ซื้อสินค้าสามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการซื้อและทำการซื้อสินค้าผ่าน Platform นั้นและ Platform ส่งคำสั่งซื้อให้เจ้าของสินค้าส่งสินค้าให้ลูกค้าหรือบางกรณีเจ้าของสินค้าได้ส่งสินค้าไปเก็บไว้ที่ Platform อยู่ก่อนแล้วและ Platform ได้ส่งสินค้าให้ลูกค้าเองและภายหลังจากนั้น Platform จะได้โอนเงินค่าสินค้าให้เจ้าของสินค้าโดยได้หักค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการออกจากเงินค่าสินค้าที่โอนให้เจ้าของสินค้าการขายสินค้าผ่าน Platform ดังกล่าวถ้า Platform เป็นตัวกลางที่รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าและรับเงินโอนจากลูกค้าเข้าบัญชีของ Platform เพื่อส่งคําสั่งซื้อไปยังเจ้าของสินค้าและถือเงินแทนลูกค้าแล้วโอนเข้าบัญชีของเจ้าของสินค้าภายหลังจะมีภาระภาษีที่เกี่ยวข้องอย่างใดอาจพิจารณาได้ดังนี้

1.ภาษีเงินได้

             ภาระภาษีเงินได้สำหรับการขายสินค้าดังกล่าวให้พิจารณาเจ้าของสินค้าเป็นใครถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเงินได้จากการขายสินค้านั้นเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรเมื่อเจ้าของสินค้าได้รับเงินโอนเข้าบัญชีจากการที่ Platform ได้โอนมาให้ในปีใดจะต้องถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในปีนั้นโดยเงินได้ที่ต้องนำมาเสียภาษีต้องเป็นจำนวนเงินได้ที่ได้รับจากการขายสินค้าก่อนหักค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการที่ Platform ได้หักไว้ (ส่วนการหักค่าใช้จ่ายของเจ้าของสินค้าถ้าเป็นกรณีที่เป็นการซื้อสินค้าแล้วมาขายต่อมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายตามความจําเป็นและสมควรได้หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตราร้อยละ 60 ก็ได้) แต่ถ้าเจ้าของสินค้าเป็น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเจ้าของสินค้าจะต้องนำรายได้จากการขายสินค้านั้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ์ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

2.ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย

             การจ่ายเงินค่าสินค้าตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย (ยกเว้นการซื้อขายสินค้าพืชไร่บางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่ายและกรณีการขายสินค้าให้ราชการซึ่งต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 50 (4) และมาตรา 69 ทวิแห่งประมวลรัษฎากรดังนั้นการขายสินค้าออนไลน์ผู้ซื้อสินค้าจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ว่าผู้ซื้อสินค้าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แต่อย่างไรก็ตามการขายสินค้าออนไลน์จะมีประเด็นเมื่อมีการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าซึ่งอาจจะมีการเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าซึ่งการจ่ายค่าขนส่งนั้นมีกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายที่เป็น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ฯ (แต่ถ้าผู้จ่ายเงินเป็นบุคคลธรรมดาการจ่ายค่าขนส่งไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย) แต่สำหรับการขายสินค้าที่มีการขนส่งให้แก่ผู้ซื้อสินค้าด้วยถ้าผู้ขายสินค้าไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ขายสินค้าก็มักจะไม่ประกอบกิจการขนส่งค่าขนส่งที่มีการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินค้าซึ่งไม่อยู่ในบังคับที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

             ปัญหาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการขายสินค้าออนไลน์ผ่าน Platform ถ้าจะมีปัญหาจะไม่ใช่ปัญหาระหว่างผู้ขายสินค้าร้านค้า) กับผู้ซื้อสินค้า แต่จะเป็นปัญหาระหว่างเจ้าของสินค้าร้านค้า) ที่เป็น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่นำสินค้าไปขายผ่าน Platform กับ Platform (ถ้าเจ้าของร้านค้าเป็นบุคคลธรรมดากฎหมายไม่ได้กำหนดให้การจ่ายเงินค้าบริการหรือค่าธรรมเนียมที่บุคคลธรรมดาจ่ายจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจึงไม่มีปัญหาเพราะการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการที่เจ้าของสินค้าดังกล่าว (ร้านค้า) จะต้องจ่ายให้ Platform จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 (Platform เป็น บริษัท ฯ ไทย) ผู้จ่ายเงินนั้นจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างใดในเมื่อในขณะที่ Platform โอเงินให้เจ้าของสินค้าได้โอนเงินหลังจากหักค่าธรรมเนียมและค่าบริการไปแล้วโดยเจ้าของสินค้าดังกล่าวไม่ได้จ่ายเงินออกจากตนเองซึ่งการที่ Platform ได้หักเงินค่าธรรมเนียมและค่าบริการจากค่าสินค้าที่ต้องโอนให้เจ้าของสินค้านั้นก็ถือได้ว่าเจ้าของสินค้าได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมและค่าบริการให้ Platform ดังนั้น ณ วันดังกล่าวเจ้าของสินค้าดังกล่าวจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ในทางปฏิบัติจะหักภาษี ณ ที่จ่ายได้อย่างใดในเมื่อเงินค่าธรรมเนียมและค่าบริการไม่ได้โอนจากเจ้าของสินค้าร้านค้า) และ Platform ก็ไม่ได้โอนภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาให้ Platform เพื่อนำส่งภาษีให้กรมสรรพากรดังนั้นเจ้าของสินค้าจึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปปัญหาก็คือภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องนำส่งดังกล่าวเจ้าของสินค้าจะนำเงินใครไปนำส่งภาษีให้กรมสรรพากรก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือทางที่หนึ่งนำเงินของตนเองไปนำส่งเท่าจำนวนภาษีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดทางที่สองไปเรียกร้องเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก Platform และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ Platform นำไปใช้เป็นเครดิตภาษีในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งทางเลือกที่สองน่าจะเป็นทางเลือกที่ยุติธรรมสำหรับทั้งสองฝ่ายดังนั้น Platform ควรจะวางแผนเกี่ยวกับภาษีที่ต้องถูกเจ้าของสินค้าหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งเพื่อมิให้เจ้าของสินค้ามีปัญหาในการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้องและทางเลือกหนึ่งที่ Platform สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยไม่เดือดร้อนกับเจ้าของสินค้าก็คืออาจทำเรื่องให้เจ้าของสินค้าตั้ง Platform เป็นตัวแทนในการหักภาษี ณ ที่จ่ายยื่นรายการและนำส่งภาษีโดยอาจจะทำเรื่องต่อกรมสรรพากรเพื่อให้การจัดทำตามวิธีนี้สามารถที่จะให้เอกสารในการยื่นรายการแทนเจ้าของสินค้าเป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีแทนหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม

             ร้านค้าที่มีรายรับจากการขายสินค้าและการให้บริการเกิน 1,800,000 บาทต่อปีจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อร้านค้าได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายแล้วย่อมเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามกฎหมาย (ถ้ายังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี แต่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายรับส่วนที่เกิน 1,800,000 บาทต่อปีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย) สำหรับ Platform ที่ให้ร้านค้านำสินค้ามาวางขายบน Platform ของตนเองเมื่อได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการจากร้านค้าจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องออกใบกํากับภาษีให้ร้านค้าที่มีประเด็นว่าจะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้หรือไม่เห็นว่า Platform ได้ให้บริการแก่ร้านค้าที่ทำสัญญากับ Platform เพื่อนำสินค้ามาวางขายการให้บริการของ Platform เป็นการให้บริการเฉพาะบุคคลที่นำสินค้ามาวางขายบน Platform ไม่ใช่การให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากที่จะมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) ฯ ดังนั้นจึงต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

             ในส่วนของการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าออนไลน์จะเสียอย่างใดนั้นควรพิจารณาจากจุดที่ว่าการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าเกิดขึ้นเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากรกล่าวคือเมื่อส่งมอบสินค้าเว้นแต่เมื่อออกใบกำกับภาษีหรือได้รับชำระค่าสินค้าก่อนส่งมอบสินค้าความรับผิดจะเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ ดังนั้นการขายสินค้าโดยผ่าน Platform จึงควรพิจารณาได้ 2 กรณีคือ

  1. กรณีที่เจ้าของสินค้าได้นำสินค้าไปไว้กับแพลตฟอร์ม เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าผ่าน Platform ก็ให้ Platform เป็นผู้ส่งสินค้าให้ลูกค้าถ้าหากทําเช่นนี้การที่เจ้าของสินค้าได้ส่งมอบสินค้าให้ Platform ดังกล่าวถือเป็นการขายสินค้าทันทีตามมาตรา 77/1 (8) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรเจ้าของสินค้าที่นำสินค้าไปขายโดยผ่าน Platform จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีเมื่อส่งมอบสินค้าให้ Platform ตามจํานวนสินค้าที่ส่งมอบให้ Platform (ออกใบกํากับภาษีให้ Platform)
  2. กรณีเจ้าของสินค้า (ร้านค้า) เลือกที่จะส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าเอง โดยจะส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าเมื่อลูกค้าได้ซื้อสินค้าผ่าน Platform และได้รับแจ้งจาก Platform ให้เจ้าของสินค้าส่งสินค้าให้ลูกค้าทั้งนี้หากลูกค้าได้ซื้อสินค้าผ่าน Platform และได้โอนเงินค่าสินค้าผ่าน Platform และหาก Platform เป็นผู้รับเงินโอนจากลูกค้าเพื่อชำระค่าสินค้าให้เจ้าของสินค้าร้านค้า) แทนลูกค้าโดย Platform จะโอนเงินค่าสินค้าให้เจ้าของสินค้าร้านค้า) เมื่อเจ้าของสินค้าร้านค้า) ได้ส่งสินค้าให้ลูกค้าแล้วในกรณีเช่นนี้เจ้าของสินค้าร้านค้า) ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า (ออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้า)

 

             ปัญหาการขายสินค้าออนไลน์จะมีปัญหาเกี่ยวกับภาษีอีกประเด็นหนึ่งก็คือการเรียกเก็บค่าขนส่งจากผู้ซื้อสินค้า (กล่าวคือค่าขนส่งที่เรียกเก็บจากลูกค้านั้นจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่) เนื่องจากตามมาตรา 81 (1) (ณ ) แห่งประมวลรัษฎากรได้กําหนดว่าการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มดังนั้นถ้าผู้ให้บริการขนส่งเรียกเก็บค่าขนส่งจากลูกค้าผู้ซื้อสินค้าจะไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง (ออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ซื้อในชื่อผู้ซื้อสินค้าโดยตรง)

ตัวอย่าง ผู้ซื้อสินค้าสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้าผ่าน Platform โดยผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าสินค้าจำนวน 2,000 บาทค่าขนส่ง 100 บาทและลูกค้า (ผู้ซื้อ) จ่ายค่าสินค้าและค่าขนส่งผ่าน Platform โดย Platform จะโอนค่าสินค้าให้ผู้ขายสินค้าและค่าขนส่งให้ บริษัท ขนส่งโดยร้านค้าออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าจากฐานภาษี 2,000 บาทและ บริษัท ขนส่งออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ซื้อกรณีเช่นนี้ค่าขนส่งที่ บริษัท ขนส่งได้รับจากผู้ซื้อสินค้าย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ซื้อสินค้าถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด แต่ถ้าเป็น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นก็มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ถ้ามีการจ่ายค่าขนส่งตั้งแต่ 1,000 บาท

             อย่างไรก็ตามถ้าร้านค้าขายสินค้าออนไลน์หรือขายสินค้าผ่าน Platform โดยร้านค้าเป็นผู้ส่งสินค้าให้ลูกค้าและเรียกเก็บค่าสินค้าจากผู้ซื้อพร้อมกับเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้ากรณีดังกล่าวถ้าจะพิจารณาเฉพาะประเด็นของการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับการขนส่งนั้นจะเป็นการยกเว้นให้สำหรับการให้บริการขนส่งที่ไม่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการอื่นร่วมด้วยหรือถ้ามีการขายสินค้าหรือบริการอื่นร่วมด้วยผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการอื่นนั้นจะต้องประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระด้วยกล่าวคือนอกจากประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการแล้วยังมีกิจการขนส่งเป็นอีกกิจการหนึ่งที่ประกอบกิจการเป็นปกติธุระของผู้ประกอบการนั้นถ้าเป็นเช่นนี้การประกอบกิจการขายสินค้าออนไลน์และมีการขนส่งให้ลูกค้าด้วยโดยผู้ขายสินค้าออนไลน์ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระด้วยและมีการเรียกเก็บค่าขนส่งแยกกับค่าสินค้าค่าขนส่งย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าเรียกเก็บค่าขนส่งรวมอยู่กับค่าสินค้าค่าตอบแทนที่ได้จากผู้ซื้อสินค้าก็จะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าทั้งจํานวนที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งจํานวนไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด

             อย่างไรก็ดีในสภาพความเป็นจริงของการประกอบกิจการขายสินค้าออนไลน์ของร้านค้าเองหรือร้านค้าขายสินค้าผ่าน Platform ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าออนไลน์มักจะไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระ แต่จะจ้างให้ผู้ประกอบการขนส่งอื่นเป็นผู้ขนส่งสินค้าให้ลูกค้าและเรียกเก็บค่าขนส่งจากลูกค้าถ้าเป็นการขายสินค้าและมีการเรียกเก็บค่าขนส่งจากลูกค้าเช่นนี้ค่าขนส่งที่เรียกเก็บนั้นจะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยไม่ว่าผู้ขายสินค้าจะเรียกเก็บค่าขนส่งแยกกับราคาสินค้าหรือรวมกับราคาสินค้าเนื่องจากผู้ขายสินค้าไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งนั่นเองจึงมีผลทำให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าดังกล่าวโดยฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจะคิดจากมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับจากการขายสินค้า (รวมค่าขนส่งด้วย)

ตัวอย่าง ผู้ซื้อสินค้าสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้าผ่าน Platform โดยผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าสินค้าจำนวน 2,000 บาทค่าขนส่ง 100 บาทและลูกค้า (ผู้ซื้อ) จ่ายค่าสินค้าและค่าขนส่งผ่าน Platform โดย Platform จะโอนค่าสินค้าและค่าขนส่งให้ผู้ขายสินค้ากรณีนี้ร้านค้าต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าจากฐานภาษี 2,100 บาท (ร้านค้าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรวมค่าขนส่งจากฐานภาษีจำนวน 2,100 บาท) และเมื่อ บริษัท ขนส่งเรียกเก็บค่าขนส่งจากร้านค้า (ทางปฏิบัติอาจโอนจาก Platform ซึ่งทำแทนร้านค้าให้ บริษัท ขนส่ง) การให้บริการขนส่งดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท ขนส่งไม่ต้องออกใบกำกับภาษี แต่ต้องออกใบเสร็จรับเงินให้ร้านค้า 100 บาทและถ้าร้านค้าเป็น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นก็จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ถ้ามีการจ่ายตามสัญญารายหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 1,000 บาท)

             ประเด็นเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าขนส่งสำหรับการซื้อขายสินค้าออนไลน์อาจจะมีปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีอีกประเด็นหนึ่งก็คือกรณีที่ผู้ซื้อสินค้าได้ซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ไม่ว่าจะซื้อจากร้านค้าที่เป็น Platform ของร้านค้าโดยตรงหรือซื้อผ่าน Platform ที่ร้านค้าได้นำสินค้าไปวางขายโดยปกติลูกค้าผู้ซื้อสินค้าจะทราบว่าราคาสินค้าที่ต้องจ่ายเท่าใดและค่าขนส่งที่จะต้องจ่ายเท่าใดจากรายการที่ปรากฏใน Platform เมื่อตกลงซื้อสินค้า แต่เมื่อลูกค้าโอนเงินหรือจ่ายเงินค่าสินค้าพร้อมค่าขนส่งผ่าน Platform อาจจะปรากฏว่าค่าขนส่งที่ลูกค้าจ่ายไปนั้นได้จ่ายเกินไปหรือจ่ายขาดไปจากที่ บริษัท ขนส่งได้คิดค่าขนส่งซึ่งร้านค้าจะเป็นผู้รับผิดและรับชอบสำหรับค่าขนส่งที่จ่ายขาดไปหรือเกินไปโดย บริษัท ขนส่งจะเรียกเก็บส่วนที่ขาดจากร้านค้าและจะคืนส่วนที่เกินให้ร้านค้า (ลูกค้าผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายเพิ่มกรณีขาดไปและไม่ได้รับคืนกรณีเกินไป) มีปัญหาว่าค่าขนส่งส่วนนี้เมื่อร้านค้าได้รับจาก บริษัท ขนส่งจะต้องเสียภาษีอย่างใดหรือเมื่อร้านค้าจ่ายจะต้องเสียภาษีอย่างใดแยกพิจารณาได้ดังนี้

  1. กรณีร้านค้าได้รับ ย่อมถือเป็นรายได้ที่ร้านค้าต้องนำมาเสียภาษีเงินได้โดยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ร้านค้าไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเงินที่ได้รับดังกล่าวไม่ใช่ค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ
  2. กรณีร้านค้าต้องจ่ายให้บริษัทขนส่ง เงินส่วนนี้ถือเป็นค่าขนส่งที่ต้องจ่ายเพิ่มร้านค้าที่เป็น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 (ถ้าร้านค้าเป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย) ส่วน บริษัท ขนส่งเมื่อได้รับย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเป็นค่าขนส่ง

 

ที่มา นายชุมพร เสนไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร