หนี้และทุน บริหารสมดุลให้ดี

การบริหารเงินในธุรกิจนอกจากกระแสเงินสดรับจ่ายในกิจการแล้ว เราต้องดูสัดส่วนระหว่างหนี้สินกับเงินทุนให้มีความพอดีกัน ซึ่งหาได้จากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ (Debt to Equity Ratio) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า D/E Ratio เป็นอัตราส่วนที่แสดงว่าธุรกิจมีหนี้เป็นกี่เท่าของเงินทุน ค่าที่ได้ยิ่งสูงเท่าไหร่ก็แสดงว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์หนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดมากเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่เวลาเราไปขอสินเชื่อแล้วธนาคารจะทำการพิจารณาอัตราส่วนนี้เป็นอันดับแรกๆ ซึ่งการคำนวณหา D/E Ratio นั้นทำได้ดังนี้

 

หนี้สินรวม หมายถึง หนี้สินของธุรกิจที่มีทั้งหมด เช่น เจ้าหนี้การค้า หนี้สินทั้งหมดจากทุกสถาบันการเงิน และค่าใช้จ่ายค้างจ่ายอื่นๆ
ส่วนของเจ้าของรวม หมายถึง เงินลงทุนตั้งต้นที่เจ้าของให้บริษัทตอนจัดตั้งขึ้นซึ่งนั่นก็คือ ทุนเรือนหุ้น ส่วนเกิน(ส่วนต่ำ)ทุน กำไร(ขาดทุน)สะสม

ตัวอย่าง

หนี้สินหมุนเวียน หน่วย : บาท
เจ้าหนี้การค้า 1,985,200
ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย 895,421
รวมหนี้สินหมุนเวียน 2,880,621
หนี้สินหมุนเวียน  
เงินกู้ยืมระยะยาว (วงเงิน 1) 1,200,000
เงินกู้ยืมระยะยาว (วงเงิน 2) 500,000
รวมหนี้สินหมุนเวียน 1,700,000
รวมหนี้ 4,580,621
ส่วนของผู้ถือหุ้น  
ทุนเรือนหุ้น  
    ทุนที่ออกและชำระแล้ว    361,820
ส่วนเกินทุน 552,814
กำไรสะสม 41,000
รวมส่วนของผู้ถือหุ้น 955,634

 

สำหรับค่า D/E Ratio ที่คำนวณได้นั้น จะสะท้อนถึงฐานะทางการเงินว่าเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ดำเนินธุรกิจนั้นมาจากหนี้สินหรือมาจากเงินลงทุนของเจ้าของ ถ้าค่าที่ได้ยิ่งสูง ก็แสดงว่าธุรกิจต้องพึ่งพาเงินกู้ยืมมาก ย่อมมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยมาก เท่ากับว่ากัดฟันสู้ทำธุรกิจมาเท่าไหร่ก็เอาไปใช้หนี้หมดเลย จึงมีความเสี่ยงสูงที่ธุรกิจจะเจ๊ง แต่หากค่าที่คำนวณได้มีค่าน้อย แสดงว่าธุรกิจดำเนินงานจากเงินทุนของเจ้าของ ถ้ากู้เงินทำธุรกิจ ก็กู้แค่พอประมาณ จึงมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นน้อย กำไรที่หามาได้ก็เอามาต่อยอดทำธุรกิจได้

จากตัวอย่างจะคำนวณได้ D/E Ratio = 4.79 เท่า หรือประมาณ 5 เท่า แปลว่าบริษัทมีหนี้สินมากกว่าเงินทุนถึง 5 เท่า ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง เพราะบริษัทใช้เงินกู้จำนวนมากมาดำเนินธุรกิจ ดอกเบี้ยจึงเบ่งบานเป็นเงาตามตัว เท่ากับว่าทำงานใช้หนี้หมด ไม่เหลือกำไร

อย่างไรก็ดี D/E Ratio ไม่ได้มีค่ากำหนดที่แน่นอนตายตัวว่าเท่าไหร่ถึงจะดี เพราะแต่ละธุรกิจแต่ละอุตสาหกรรมมีธรรมชาติในการทำธุรกิจที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ความเหมาะสมของค่า D/E Ratio ที่ได้นั้นแตกต่างกัน  นอกจากนี้การคำนวณหา D/E Ratio ในแต่ละปี ก็จะช่วยให้ธุรกิจเห็นแนวโน้มความเสี่ยงทางการเงินของตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้าง รู้อย่างนี้แล้วผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่อยากก้มหน้าก้มตาทำงานใช้หนี้ ก็ต้องให้บริหารสัดส่วนของหนี้สินกับส่วนของเจ้าของให้สมดุลกันนั่นเอง

ที่มา www.kasikornbank.com