ร้านอาหาร ออกใบกำกับภาษี ใส่ที่อยู่ผิด ต้องแก้ไขอย่างไร?

         ร้านอาหาร ออกใบกำกับภาษีให้ แต่ใส่ที่อยู่ผิด แต่ทางร้านอาหารแจ้งว่า ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะมีระยะเวลาเกิน 1 เดือน
ตามข้อ 24 และข้อ 25 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 ได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการยกเลิกใบกำกับภาษีและออกฉบับใหม่แทนฉบับเดิม ดังนี้
      “ข้อ 24 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
        กรณีเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามวรรคหนึ่งไปถือเป็นภาษีซื้อแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม และนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้ตรวจสอบภายในระยะเวลาที่กำหนด และผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
      กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้าต่อมาผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องก็ยังคงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม ตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อขอคืนภาษีเป็นเงินสด แต่ต้องไม่เกินสามปีนับจากวันที่ได้มีการจัดทำใบกำกับภาษี
     กำหนดระยะเวลาตามวรรคสองต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบการกระทำความผิด
ข้อ 25 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ 

            (1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า “ยกเลิก” หรือขีดฆ่า แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม
            (2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลง วัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ
            (3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ ... เล่มที่ ...” และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
           ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้ด้วย”
แนวทางปฏิบัติดังกล่าว แม้ไม่ใช่กฎหมาย แต่ก็เป็นที่ยอมรับถือปฏิบัติเช่นเดียวกับการตราเป็นกฎหมาย เพียงแต่ไม่มีบทกำหนดโทษรองรับกรณีที่ Supplier ไม่ให้ความร่วมมือในกรณีนี้

เครดิต อาจารย์ สุเทพ พงษ์พิทักษ์

 

ที่มา : เพจบัญชีภาษีเชิงรุก