SME ควรรู้ ก่อนปรับโครงสร้างหนี้

 

1.ทบทวนอนาคตธุรกิจ

ก่อนจะพูดถึงเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องมองให้ออกคืออนาคตของธุรกิจที่กำลังทำอยู่นั้นยังมีทางรอดต่อไปได้หรือไม่? เพราะต้องยอมรับว่า COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปในหลายเรื่องเกิด New Normal ใหม่ ๆ ขึ้นมาดังนั้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถ้ามองแล้วว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้วไม่ซื้อสินค้าชิ้นนี้อีกต่อไปนั่นเรียกว่าไม่มีทางออกหรือทางรอดแล้วอาจถึงเวลาที่ผู้ประกอบการต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ ทดแทนพูดง่ายๆคืออาจต้องเลิกกิจการนั้นไป แต่ถ้าในกรณีที่ธุรกิจยังสามารถไปต่อได้การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อรอเวลาให้กระแสเงินสด (Cash Flow) ของธุรกิจกลับมาถือเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

 

2.เช็คกระแสเงินสด

สิ่งที่ต้องรู้ต่อมาคือกระแสเงินสด (Cash Flow) จะเป็นตัวชี้ชัดได้เป็นอย่างดีว่าธุรกิจจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ คุณสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย บอกว่าการที่ธุรกิจมีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอผู้ประกอบการต้องกลับมามองว่าทำไมเงินหมุนเวียนถึงไม่พอเกิดจากรายได้มีเข้ามาน้อยไปหรือไม่หรือรายจ่ายมากเกินไปหรือเปล่าถ้ารายได้มาน้อยไปควรต้องทำอย่างไรเพื่อเพิ่มรายได้หรือถ้าเพิ่มไม่ได้ก็ต้องไปลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องมอง 2 ด้านนี้คือ

● กระแสเงินสดที่ได้รับเข้ามา (Cash Inflow)

● กระแสเงินสดที่ต้องจ่ายออกไป (Cash Outflow)

แน่นอนว่าเวลานี้ Cash Inflow ดูเหมือนมี จำกัด ในขณะที่ Cash Outflow ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิมจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ได้จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องเข้ามาพูดคุยเจรจากับทางธนาคารเพื่อหาทางออกร่วมกันซึ่งวันนี้ธนาคารเองก็มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการอยู่แล้ว

 

3.ใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม

เมื่อพูดถึงการปรับโครงสร้างหนี้วิธีการที่หลายคนคุ้นเคยคงหนีไม่พ้นการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้หรือการปล่อยเงินกู้ใหม่ซึ่งในแต่ละวิธีการนั้นก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกยกตัวอย่างการขยายเทอมมีตั้งแต่รูปแบบที่เป็น Debt Holiday คือไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่วิธีการนี้ดอกเบี้ยจะสะสมไปเรื่อย ๆ หรืออาจจะเป็นการขยายเทอมในรูปแบบผ่อนจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเงินต้นจ่ายทีหลังหรือแม้ แต่การเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเพื่อให้ได้  อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงเหล่านี้นับเป็นวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อช่วยทำให้ Cash Outflow ของธุรกิจลดลงหรือทำให้สอดคล้องกับ Cash Inflow ในสถานการณ์ปัจจุบันนั่นเอง ดังนั้นการปรับโครงสร้างหนี้แบบไหนที่จะเหมาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจจะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไปเพื่อหารูปแบบของการปรับโครงสร้างที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้นๆ

ยกตัวอย่าง กลุ่มโรงแรมถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากไม่มีรายได้เข้ามาเลยฉะนั้นการปรับโครงสร้างหนี้อาจยังไม่ใช่การปล่อยเงินเพิ่มในขณะนี้ แต่อาจจะเป็นการขยายเวลา Debt Holiday ให้ลูกค้าต่อในช่วงสั้น ๆ เพื่อรอดูสถานการณ์เป็นต้น

 

4.ปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้แปลว่า"เครดิตไม่ดี"

ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีมุมมองความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อคำว่า“ ปรับโครงสร้างหนี้” หลายคนมักคิดว่าหากมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้วอาจทำให้ธุรกิจมีตำหนิหรือเครดิตไม่ดี แต่แท้ที่จริงแล้วในมุมของธนาคารจะพิจารณาจากกระแสเงินสดของลูกค้าเป็นหลักการที่กระแสเงินสดไม่มีต้องไปดูต่อว่าเกิดจากสาเหตุอะไรซึ่งในภาวะปัจจุบันด้วยสถานการณ์ coVID-19 คงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าการที่ธุรกิจไม่มีกระแสเงินสดเป็นเพราะผู้ประกอบการบริหารงานไม่ดีฉะนั้นธนาคารจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวจากเหตุและผลประกอบกันอย่างหลาย ๆ ธุรกิจในอดีตที่เคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงวิกฤตปี พ.ศ. 2540 ก็ยังสามารถเติบโตกลายเป็น บริษัท ใหญ่ในทุกวันนี้ได้ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณยังหาทางออกจากวิกฤตไม่ได้ใช้การเจรจากับธนาคารเพื่อปรับโครงสร้างหนี้น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้อย่าปล่อยให้ธุรกิจจมอยู่กับปัญหาจนนำไปสู่การเป็นหนี้เสียเพราะหากไปถึงจุดนั้นจะยากเกินแก้ไขและกลายเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจของคุณในอนาคตได้

ที่มา KSMEInspired

คุณสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย