8 อัตราส่วนทางการเงิน

กลุ่มแรก เกี่ยวกับเรื่องของหนิ้สิน

1. อัตราส่วนแรกที่หลายคนรู้จัก คือ หนี้สิน/ ทุน หรือ D/E ratio หรือ หนี้สินรวม/ ส่วนผู้ถือหุ้น ถ้า หนี้สิน น้อยกว่าทุน (D/E ratio < 1) บอกถึงว่า สินทรัพย์ที่มีของกิจการส่วนใหญ่เป็นส่วนของทุน มีความมั่นคง สัดส่วนของหนี้สินนั้นไม่ควรมากเกินไป เพราะเมื่อมีหนี้สินมาก ก็มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูง เมื่อรายได้ไม่เป็นตามที่คิด บริษัทก็จะมีปัญหาได้

2. อัตราส่วนสภาพคล่อง (current ratio) เพื่อดูสภาพคล่องของกิจการว่าสามารถจ่ายชำระหนี้ระยะสั้นเมื่อถึงกำหนดต้องจ่ายได้ไหม

อัตราส่วนสภาพคล่อง = สินทรัพย์หมุนเวียน/ หนี้สินหมุนเวียน

สินทรัพย์หมุนเวียน นั้น หมายถึงสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว (ใน 1 ปี) เช่น เงินสด เงินฝาก ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ เงินลงทุนระยะสั้น

ส่วนหนี้สินหมุนเวียนนั้น คือหนี้ที่ครบกำหนดต้องจ่าย ใน 1 ปี เช่น เงินเบิกเกินบัญชี เจ้าหนี้การค้า หนี้สินระยะยาวที่ครบกำหนดจ่ายน 1 ปี ถ้ามีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่า หนี้สินระยะสั้นที่ต้องจ่าย ก็จะดี เพราะมีเงินจากสินทรัพย์หมุนเวียนมาจ่ายหนี้ระยะสั้นได้สบาย

กลุ่มที่ 2 เป็นอัตราส่วนที่บอกว่า บริษัทสามารถนำสินทรัพย์ที่มีบริษัท หรือสามารถนำส่วนของทุนไปทำให้เกิดกำไรหรือรายได้ได้ดีแค่ไหน

1. ROE (return on equity) จะทำให้เราทราบว่า กิจการนั้นนำส่วนของผู้ถือหุ้น ไปทำให้เกิดกำไรได้ดีแค่ไหน

ROE= กำไร/ ส่วนผู้ถือหุ้น

ROE ยิ่งสูง ยิ่งดี เพราะแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการนำทุน (ส่วนผู้ถือหุ้น) ไปสร้างผลตอบแทนได้ดี เช่น กิจการหนึ่ง ROE 20% กับอีก กิจการหนึ่ง ROE 10% ก็จะเห็นว่ากิจการที่ทำ ROE ได้ 20% ก็จะน่าสนใจกว่า เพราะจากเงินของผู้ถือหุ้น 100 บ. ทำกำไรได้ 20 บ.

2. ROA (return on asset) คิดจาก กำไร/ สินทรัพย์ จึงบอกว่า บริษัทสามารถนำสินทรัพย์ที่กิจการมี ไปก่อให้เกิด “กำไร” ได้ดีแค่ไหน

แต่ถ้าจะดูว่า กิจการสามารถนำสินทรัพย์ที่มีไปก่อให้เกิด “รายได้” ได้มากน้อยแค่ไหน คือ อัตราส่วนผลตอบแทนจากทรัพย์สิน (total asset turnover)

3. อัตราส่วนผลตอบแทนจากทรัพย์สิน (total asset turnover) ซึ่งคิดจาก รายได้/ สินทรัพย์รวม จึงเป็นค่าที่ใช้วัดความสามารถของบริษัทในการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ทั้งหมดที่บริษัทลงทุนไป ถ้ากิจการมีค่าอัตราส่วนนี้ยิ่งสูง ก็บอกว่า บริษัทนั้นสามารถใช้สินทรัพย์ที่ไม่สูงในการสร้างรายได้

 

ตอนนี้ก็รู้จักไป 5 อัตราส่วนแล้ว เหลืออีก 3 อัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับ margin หรืออัตรากำไร ที่คิดจากกำไรในแต่ละระดับ มี อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT Margin) และอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)

1. อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) จะคิดจาก กำไรขั้นต้น/ รายได้

2. อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT Margin) จะคิดจาก กำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษี/ รายได้

ข้อมูลเพิ่มเติม: EBIT = earning before interest and tax ก็คือกำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) และภาษี หรือ เรียกว่า กำไรจากการดำเนินงาน

3. อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) คิดจาก กำไรสุทธิ/ รายได้

ดังนั้น 3 อัตรากำไรนี้ จึงเป็นการบอกถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ในแต่ละขั้นตอน เช่น ถ้าอัตรากำไรขั้นต้นสูงมาก แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานอออกกมาน้อยมาก แสดงว่า มีค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารสูง และการรักษาอัตรากำไรต่างๆ ได้ดีอย่างสม่ำเสมอยังสามารถบอกความสามารถในการแข่งขันได้ของกิจการด้วย โดยเฉพาะเรื่องของอัตรากำไรขั้นต้น ที่คิดจาก กำไรขั้นต้น หารด้วยยอดขาย ถ้ารักษาได้ระดับได้ดีอย่างสม่ำเสมอ แสดงว่า กิจการนั้นไม่ต้องลงไปสู้กันด้วยสงครามราคา และเมื่อต้นทุนสินค้าเพิ่มก็สามารถปรับราคาสินค้าได้

 

อัตราส่วนทางการเงินนั้นจะทำให้เราสามารถนำไปเทียบกับกิจการที่มีลักษณะคล้ายกันได้ เพราะเราไม่สามารถนำตัวเลขที่อยู่ในงบไปเทียกันโดยตรงได้ ดังนั้นการเข้าใจเรื่องอัตราส่วนทางการเงินจะทำให้เราเข้าใจกิจการได้ดีขึ้น

ที่มา เพจ หมอยุ่งอยากมีเวลา