วิธีสร้างกระแสเงินสดให้ร้านอาหารรอดจากวิกฤต

ธุรกิจร้านอาหารนั้น หนึ่งในปัจจัยหลักที่ช่วยให้ราบรื่นและประสบความสำเร็จคือเรื่องเงินทุนและกระแสเงินสด เมื่อร้านมีกระแสเงินสดดี การบริหารค่าใช้จ่ายก็ไม่สะดุด เมื่อเจอปัญหาหรือวิกฤตก็มีทุนสำรอง ช่วยประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ และด้วยในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด อยากมาแนะนำ 4 วิธีสร้างกระแสเงินสดให้ร้านอาหารรอดจากวิกฤต จัดการตามนี้ รับรองมีกระแสเงินสดเพิ่ม จะมีวิธีใดบ้าง ไปดูพร้อมกันเลย

1 จัดการสต็อกเป็นก็เห็นกำไรและคอยดูเงินสดไว้ให้ดี

    การวางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบให้พอเพียงกับยอดขายในแต่ละวัน เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ สำหรับการคำนวณหายอดขายเฉลี่ยต่อวันของแต่ละเมนู แนะนำให้ทำตารางแบ่งเป็นช่อง ดังนี้ รายการเมนู ยอดขายเป็นจำนวนจานของแต่ละเมนูในเดือนนั้น ๆ ช่องคำนวณหายอดขายเฉลี่ยต่อวัน จากนั้น เอาจำนวนจานที่ขายได้ (แต่ละเมนู) หาร 30 วัน จะได้ยอดขายเฉลี่ยต่อวันของแต่ละเมนู

ส่วนการวางแผนการซื้อวัตถุดิบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แนะนำดังนี้

  • หากอยู่ในช่วงที่สถานการณ์เอาแน่เอานอนไม่ได้ เช่น ล็อกดาวน์ ลูกค้าจับจ่ายลดลง เวลาเปิดร้านจำกัด แนะนำให้ซื้อวัตถุดิบวันต่อวัน ป้องกันการเสียต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์ วัตถุดิบไหนเสียง่าย ต้องการความสดใหม่ ยิ่งไม่ควรซื้อสต็อกไว้เยอะ ควรซื้อแค่พอขายวันต่อวัน
  • เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ขายได้ตามปกติ ลูกค้าสามารถกลับมานั่งที่ร้านได้ หลายอย่างฟื้นตัวขึ้น ควรซื้อวัตถุดิบเผื่อขายอย่างน้อย 2 วัน เพื่อให้จัดการสต็อกได้ง่ายขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าในแต่ละวัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องคำนวณค่าเดินทาง ค่าขนส่งวัตถุดิบ โดยประเมินจากกระแสเงินสดของร้านที่มีอยู่แบบวันต่อวันด้วย เพื่อรักษาเงินสดไว้ในมือให้ได้มากที่สุด ไม่เน้นซื้อตุนไว้ล่วงหน้า เพียงเพราะคิดว่าคุ้มกว่า ประหยัดกว่า เพราะอาจกลายเป็นสินค้าค้างสต็อก ทุนจม

2 ขายเมนูที่ลูกค้าอยากทานเพื่อไม่เสียเงินซื้อวัตถุดิบเกินจำเป็น

    เช็กดูให้ดีว่าช่วงนี้ลูกค้าส่วนใหญ่อยากทานอะไร เมนูไหนขายดี ผู้ประกอบการควรติดตามกระแสข่าว ดูทิศทาง ราคาวัตถุดิบ ความต้องการของลูกค้าและตลาด 

   นอกจากนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อดูว่าลูกค้าทั่วไปชอบทานอะไร เช่น เลือกขายเมนูที่มีคนค้นหามากที่สุดจากในกูเกิล (Google) เพราะแสดงว่าเป็นเมนูที่กำลังเป็นที่ต้องการสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อวัตถุดิบเข้ามาเยอะเกินจำเป็น

3 ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

   ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจิปาถะและค่าสิ่งที่ไม่ค่อยได้ใช้งานเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นที่ผู้ประกอบต้องไม่มองข้าม ควรตรวจสอบบัญชีรายจ่ายของร้านว่า ต้องจ่ายอะไรบ้างในแต่ละเดือน สามารถลดตรงไหนได้บ้าง และเริ่มลดค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ ที่ไม่จำเป็น ที่ทำได้ทันทีก่อน เช่น ลดการใช้น้ำ ปิดแอร์ในช่วงที่ลูกค้าน้อย ตัดเมนูที่ยอดขายไม่ค่อยดีออก ก็เป็นอีกทางที่ช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบได้ หรือ ยกเลิกบริการที่ร้านไม่ค่อยได้ใช้

4 ปรับเมนูจากของที่มีในครัว เปลี่ยนของที่ไม่ใช้ให้เป็นเงิน

    ผู้ประกอบการสามารถลดค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มกระแสเงินสดได้ด้วยการปรับเมนูจากทของที่มีในครัวโดยต่อยอดวัตถุดิบนั้นๆ ให้เป็นเมนูใหม่

ยกตัวอย่างเช่น พริกแกงจากเมนูต้มแกง เช่น พริกแกงเขียวหวาน นอกจากใช้ทำแกงเขียวหวานทานกับข้าวหรือขนมจีน ยังทำเป็นข้าวผัดแกงเขียวหวานไก่ได้ ดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องทิ้งเสียเปล่า ปรุงขายเป็นเมนูใหม่เพื่อทำกำไรดีกว่า 

 นอกจากวิธีที่เราแนะนำแล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ ในการสร้างกระแสเงินสดหมุนเวียนเพื่อให้ร้านอาหารรอดจากวิกฤต เช่น หากมีของและอุปกรณ์ที่ไม่ค่อยได้ใช้ หรือไม่ใช้แล้ว เช่น ชั้นวางของ เก้าอี้ อุปกรณ์ครัว ก็สามารถนำไปขายเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การมีกระแสเงินสดอย่างเดียวก็ไม่พอที่จะทำให้ร้านอาหารประสบความสำเร็จได้ การทำอาหารอร่อย รสชาติคงที่ สะอาด ได้มาตรฐาน ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่อย่างที่เป็นตัวเรียกลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการที่ร้าน

 

ที่มา :  www.unileverfoodsolutions.co.th