มีรายได้เท่าไหร่ต้องจด VAT

มีรายได้เท่าไหร่ต้องจด VAT

  • ผู้ประกอบการมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
  • หากมีรายได้ไม่เกินไม่มีหน้าที่ต้องจด แต่หากต้องการจดก็สามารถจดได้เหมือนกัน
  • ยกเว้นกรณีขายสินค้าหรือบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ตัวอย่างเคส

นาย ก. ประกอบอาชีพค้าขายของเบ็ดเตล็ดและอะไหล่รถยนต์ให้กับกรม ข. ยังมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากมีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี โดยในปี 2548 ได้ขายสินค้าให้กับทางกรมขนส่งฯ มียอดการขายทั้งปีเป็นเงินจำนวน 1,600,000 บาท และได้รับชำระราคาค่าสินค้าดังกล่าวบางส่วนในปี 2549 โดยได้นำยอดเงินที่ได้รับจากการขายสินค้าจำนวน 1,600,000 บาท ในปี 2548 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้แล้ว ต่อมาในปี 2549 มีรายได้จากการขายสินค้ารวมเป็นเงินจำนวน 1,700,000 บาท และได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้แล้ว แต่เมื่อนำรายรับที่เป็นค่าสินค้าค้างจ่ายในปี 2548 ซึ่งได้รับจริงในปี 2549 รวมกับรายรับในปี 2549 ทำให้มีรายได้เกินจำนวน 1,800,000 บาท จึงขอทราบว่า การประกอบกิจการขายสินค้าดังกล่าว ต้องจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่อย่างไร

แนววินิจฉัย

กรณีบุคคลธรรมดาประกอบอาชีพค้าขายของเบ็ดเตล็ดและอะไหล่รถยนต์ เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการตาม มาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร หากบุคคลธรรมดามีมูลค่าของฐานภาษีจากการประกอบกิจการขายสินค้าดังกล่าวเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 82 และมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร โดยการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีให้ถือมูลค่าของฐานภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร

 

แล้วหากมีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท ควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ?
คำถามคือเพิ่งเปิดบริษัทรายได้ยังไม่ถึง 1.8 ล้านบาท จึงยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนนี้มีลูกค้ารายหนึ่งต้องการซื้อสินค้าจากบริษัทแต่ลูกค้าอยากได้ใบกำกับภาษี บริษัทควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ?
ให้เราพิจารณาว่าบริษัทมีความสามารถในการผลักภาระ VAT ไปให้ลูกค้าได้มากน้อยขนาดไหน
คำว่าผลักภาระ VAT ให้ลูกค้า หมายความว่าเดิมสินค้าราคา 100 บาท หลังจากจด VAT จึงเรียกเก็บ VAT เพิ่ม 7% เป็น 107 บาท และลูกค้าก็ยอมที่จะขายที่จะจ่ายเงิน 107 บาทในการซื้อสินค้าจากบริษัท
ส่วนใหญ่แล้วถ้าลูกค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว เราเก็บเงินค่าสินค้า 107 (100 + 7) ลูกค้าก็จะไม่ได้รู้สึกว่าสินค้าเราแพงขึ้น เพราะเค้าสามารถขอคืน 7 บาท ที่เป็นภาษีซื้อจากกรมสรรพากรได้ ดังนั้นถ้าเราสามารถผลักภาระ VAT ให้ลูกค้าได้ เราก็ควรจด VAT เพราะไม่ได้กระทบกับการขายสินค้า และในทางกลับกันเราสามารถขอคืนภาษีซื้อจากกรมสรรพากรได้อีกทำให้ต้นทุนเราลดลง
แต่ถ้าเราไม่สามารถผลักภาระ VAT ให้กับลูกค้าได้ เราจะต้องยอมลดราคาสินค้าลง เพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้าจากเราการจด VAT ก็จะทำให้กำไรของกิจการลดลงดังนั้นไม่ควรจด VAT จนกว่ารายได้จะถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี
กรณีที่ลูกค้าต้องการใบกำกับภาษี ให้เราลองอธิบายกับลูกค้าว่าเราสามารถออกใบเสร็จรับเงินในนามบริษัทให้กับลูกค้าได้ ซึ่งใบเสร็จรับเงินนี้สามารถนำมาเป็นหลักฐานใช้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เหมือนใบกำกับภาษีทุกอย่าง (ผู้ประกอบการหลายท่านมักเข้าใจผิดว่าเฉพาะใบกำกับภาษีเท่านั้นถึงจะนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้)

 

 

ที่มา เพจ กรมสรรพากร / เว็บ กรมสรรพากร และ เพจ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ใส่ใจบัญชีและภาษี

เนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ

การยื่นขอจด VAT