กองทุนเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม

กองทุนเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม
กองทุนเงินทดแทนเป็นระบบที่สำนักงานประกันสังคมจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต เนื่องจากงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้

สิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับ

ลูกจ้างที่ประสบอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจ รวมถึงกรณีที่เสียชีวิตด้วยโรคจากการทำงาน สามารถรับเงินทดแทนได้ตามเงื่อนไขของกองทุนเงินทดแทน  ซึ่งประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายเดือน ค่าทำศพ และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน

1. เงินค่ารักษาพยาบาล เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการรักษา

  • ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง จ่ายตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 65,000 บาท
  • บาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรัง จ่ายไม่เกิน 150,000 บาท
  • หากไม่เพียงพอจ่ายเพิ่มได้อีก 300,000 บาท
  • หากไม่เพียงพอจ่ายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท

เว้นแต่ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก จนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล หรือกรณีมีความจำเป็น หรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

2. เงินทดแทนการขาดรายได้ หากลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ได้รับค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน * ไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน (ค่าจ้างสูงสุด 20,000 บาท)

  • แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่วันแรก รวมไม่เกิน 1 ปี
  • สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายไม่เกิน 10 ปี
  • ทุพพลภาพตลอดชีวิต
  • ถึงแก่ความตายหรือสูญหาย 10 ปี และค่าทำศพ

3. เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต ให้แก่ทายาทของลูกจ้าง ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

4. ค่าฟื้นฟู

กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลังการประสบอันตราย สําหรับลูกจ้างที่จําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูได้รับตามอัตราดังนี้

  • ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบําบัดไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบําบัดไม่เกิน
    วันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบําบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจําเป็นให้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 140,000 บาท
    แต่รวมกันแล้ว ไม่เกิน 180,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอํานาจพิจารณา
  • ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูหน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกําหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 160,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานด้านอาชีพให้จ่ายได้ เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสานักงานประกันสังคม เป็นผู้ดําเนินการไม่เกิน 24,000 บาท

กรณีที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิรับเงินทดแทน ลูกจ้างจะไม่ได้รับสิทธิในกรณีที่พฤติกรรมหรือการกระทำเข้าข่ายดังนี้

  1. เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดจนขาดสติ
    หากลูกจ้างเกิดอันตรายขณะอยู่ในภาวะมึนเมาจากการเสพแอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติดใด ๆ

  2. จงใจให้ตนเองหรือผู้อื่นประสบอันตราย
    หากพบว่าการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายนั้นเกิดจากความตั้งใจของลูกจ้างเอง

การใช้สิทธิ

เมื่อลูกจ้างต้องการขอรับเงินทดแทน จะต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบทันที พร้อมทั้งส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานประกันสังคมเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน การเข้าใจสิทธิและข้อจำกัดของกองทุนเงินทดแทนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกจ้างและครอบครัวในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันระหว่างการทำงาน

 

ที่มา เพจ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office และ เว็บไซต์กองทุนเงินทดแทน